Jul
07
2015
0

คมความคิด (อคิราภ์ วีระนิตินันท์): เมื่อธรรมศาสตร์(ไม่)พร้อมรองรับนักศึกษาพิการ

1,239 views

akira-interview

คมความคิด (อคิราภ์ วีระนิตินันท์)
เมื่อธรรมศาสตร์(ไม่)พร้อมรองรับนักศึกษาพิการ

บทบรรณาธิการบทหนึ่งในหน้าหนังสือพิมพ์ “มหาวิทยาลัย”ฉบับที่ 7 วันที่ 5-11 พฤศจิกายน 2558 ตีพิมพ์ด้วยเรื่อง “ธรรมศาสตร์ กับความไม่พร้อมในการรองรับนักศึกษาผู้พิการ” สอดคล้องกับหลักคิดของ ม.ล.ปิ่น มาลากุล นักการศึกษาคนสำคัญของประเทศที่ระบุว่า “อันสิทธิมนุษยชนข้อใดเล่าจะเทียบเท่าสิทธิการศึกษา ประกาศก้องต้องให้ความเมตตา เสมอหน้าหนวกใบ้ไม่เว้นเอย” นับเป็นจังหวะดีที่บทบรรณาธิการบทนี้ได้รับรางวัลชมเชย บทบรรณาธิการ(บทนำ) ดีเด่น ของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติประจำปี 2557 เขียนโดยนางสาวอคิราภ์ วีระนิตินันท์ นักศึกษากลุ่มวิชาสิ่งพิมพ์และหนังสือพิมพ์ ในฐานะบรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์มหาวิทยาลัย ฉบับที่ 7

เพราะเป็นลูกแม่โดม ที่อยากให้ มธ.มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว

อคิราภ์ วีระนิตินันท์ หรือมัดหมี่ กล่าวภายหลังการรับรางวัลในครั้งนี้ว่า “จริงๆแล้ว เหตุผลที่เขียนเรื่องนี้ขึ้นมา ไม่ได้ต้องการจะดิสเครดิต ม.ธรรมศาสตร์ แต่อย่างใด สำหรับดิฉันคิดว่า ม.ธรรมศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ที่มีผู้บริหารให้ความสำคัญและใส่ใจกับการอำนวยความสะดวกแก่นักศึกษาผู้พิการอย่างครบครันพอสมควร แต่อย่างไรก็ตามดิฉันคิดว่าในความพร้อมก็ยังมีจุดบอกที่ควรได้รับการพัฒนาให้มีความพร้อมอย่างสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และในธรรมศาสตร์เองก็มีนักศึกษาผู้พิการเป็นจำนวนมากซึ่งคนกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับการอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ เพื่อให้ดำรงชีวิตประจำวันได้โดยไม่ลำบาก ดังนั้นในฐานะที่ดิฉันเป็นลูกแม่โดมคนหนึ่งจึงอยากใช้โอกาสนี้เป็นกระบอกเสียงเพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาความพร้อมในการรองรับนักศึกษาผู้พิการให้พวกเขาได้ใช้ชีวิตเสมือนคนปกติมากที่สุดเพื่อให้สมกับที่เป็นมหาวิทยาลัยที่มีสิทธิเสรีภาพทุกตารางนิ้วและมีความเท่าเทียมเป็นที่หนึ่ง”

มธ.ควรเร่งลงมือเตรียมความพร้อมรองรับผู้พิการให้ดีกว่าเดิม

– วิธีการทำงานเก็บข้อมูลในครั้งนี้ของมัดหมี่ มีวิธีการอย่างไรบ้าง? “ในการทำงานครั้งนี้ดิฉันสำรวจสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักศึกษาผู้พิการว่ามีข้อบกพร่องอย่างไรบ้าง ควรได้รับการปรับปรุงพัฒนาไปในทิศทางได้ และทำควบคู่ไปกับการสัมภาษณ์ความคิดเห็นของนักศึกษาเหล่านั้นซึ่งเป็นผู้ใช้จริงว่าสิ่งที่มีอยู่ตอบสนองความจำเป็นของพวกเขาได้ดีพอหรือยัง”
– เมื่อถามถึงความพร้อมในประเด็นนี้ของ ม.ธรรมศาสตร์ มัดหมี่ ให้มุมมองในเรื่องนี้ว่า “ดิฉันคิดว่า ม.ธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยในอันดับต้นๆ ที่มีความสามารถในเรื่องการอำนวยการอำนวยความสะดวกแก่นักศึกษาผู้พิการอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับนักศึกษาผู้พิการให้ดีกว่าเดิม เช่น การดูแลสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการให้ได้มาตราฐาน มีการทำราวกั้นคู คลองต่างๆ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุในการพลัดตกน้ำ หรือทำทางลาดเพิ่มตามที่ต่างๆ เพื่อให้ผู้ใช้รถเข็นได้เดินทางอย่างสะดวกมากขึ้น

การทำงานหนังสือพิมพ์ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม…ไม่สร้างความแตกแยก

-หนังสือพิมพ์มหาวิทยาลัยให้อะไรกับมัดหมี่บ้าง? “สำหรับดิฉันการทำหนังสือพิมพ์มหาวิทยาลัยเป็นสิ่งที่สร้างให้ทุกๆ คนได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่างร่วมกันทั้งการทำงานเป็นทีม รู้จักการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทำให้เพื่อนๆ ในเอกได้รู้จักกันมากขึ้น สนิทสนมกัน ช่วยกันแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงาน นึกถึงใจเขาใจเรา มีความรับผิดชอบ ตรงต่อเวลา และที่สำคัญสิ่งที่หนังสือพิมพ์มหาวิทยาลัยให้ คือการรับผิดชอบต่อสังคม คือทุกสิ่งที่อย่างที่รายงานออกไปต้องเป็นความจริง มีที่ไปที่มา และเชื่อถือได้ เพราะหนังสือพิมพ์ถือเป็นสื่อกลาง ดังนั้นเราจำเป็นต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมต่อสิ่งที่ถ่ายทอดออกไป ที่สำคัญต้องตระหนักอยู่เสมอว่าหนังสือพิมพ์จะช่วยให้สังคมพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นไม่ใช่นำเสนอข่าวหรือเขียนบทความที่ก่อให้เกิดการแตกแยกในสังคม”

ประสบการณ์หนังสือพิมพ์มหาวิทยาลัย สร้างความท้าทาย – ฝึกประสบการณ์นอกตำรา

-ถามทิ้งท้ายการทำงานหนังสือพิมพ์มหาวิทยาลัยในแต่ละฉบับเป็นอย่างไรบ้าง?
การทำงานหนังสือพิมพ์มหาวิทยาลัยในแต่ละฉบับจะมีการจับฉลากเพื่อให้ทุกคนได้ทำหน้าที่ที่หลากหลาย ไม่ซ้ำเดิม ซึ่งในจุดนี้ดิฉันคิดว่าทำให้ทีมนักศึกษาที่ทำหนังสือพิมพ์มีศักยภาพและมีความรู้รอบด้านในการทำงานในทุกๆ หน้าที่ของกองบรรณาธิการ
เมื่อพูดถึงบรรยากาศโดยรวมมัดหมี่ระบุว่า “บรรยากาศในทำงานเป็นไปด้วยความสนุกสนานเพราะได้ทำงานร่วมกันกับเพื่อนๆ อาจมีบ้างที่เคร่งเครียด เพราะการทำหนังสือพิมพ์นั้นได้รับความกดดันจากกรอบของเวลาที่บีบอยู่เสมอ แต่ก็มักมีความท้าทายเพราะต้องคอยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ”
“สำหรับฉบับที่ดิฉันได้รับตำแหน่งเป็นบรรณาธิการนั้น จะทำงานโดยแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบตามที่ได้รับมอบหมาย มีการออกไปหาประเด็นข่าว คัดเลือกเรื่องที่น่าสนใจและจำเป็นต้องรู้มานำเสนอให้ผู้อ่านได้ทราบ โดยมอบหมายหน้าที่ในการเขียนให้แต่ละคน และมีการตรวจแก้โดยบรรณาธิการข่าว และบรรณาธิการบทความ ซึ่งอยู่การดูแลของอาจารย์ที่ปรึกษาเพื่อให้หนังสือพิมพ์ออกมามีคุณภาพมากที่สุด”
ต้องติดตามนับจากนี้จากบทบรรณาธิการเล็กๆ ในหน้าหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติมหาวิทยาลัยจะจุดประกายประชาคมธรรมศาสตร์ทุกภาคส่วนตอบสนองสิทธิเสรีภาพอย่างไรได้อย่างเท่าเทียม

Jul
03
2015
0

รางวัลชมเชยบทบรรณาธิการดีเด่น ประเภทหนังสือพิมพ์ฝึกหัดในมหาวิทยาลัย ประจำปี 2557

1,271 views

akira-03

นางสาวอคิราภ์ วีระนิตินันท์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 กลุ่มวิชาหนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ ได้รับโล่เกียรติคุณ รางวัลชมเชย บทบรรณาธิการดีเด่น ประจำปี 2557 ประเภทหนังสือพิมพ์ฝึกหัดในมหาวิทยาลัย จากเรื่อง “ธรรมศาสตร์กับความไม่พร้อมในการรองรับนักศึกษาผู้พิการ” ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มหาวิทยาลัย ฉบับวันที่ 5-11 พฤศจิกายน 2557 จากคุณพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ที่ปรึกษาสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2558 ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

Faculty of Journalism and Mass Communication, Thammasat University | email: jc.thammasat@gmail.com
StartCounter@15052010

  • Twitter
  • Facebook
  • YouTube