Oct
07
2016
0

โครงการ “ฝึกอบรมหลักสูตรวิทยุและโทรทัศน์แก่ผู้รับทุนจาก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว”

1,012 views

IMG_2901

คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับมอบหมายจากงานบริการนักศึกษาและบุคลากรนานาชาติ กองวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดหลักสูตรฝึกอบรมด้านวิทยุและโทรทัศน์ แก่ผู้ที่ได้รับทุนจาก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตามบันทึกความร่วมมือระหว่างประเทศ ภายใต้มติการประชุมความร่วมมือวิชาการไทย-ลาว ครั้งที่ 21 โดยจัดการฝึกอบรมระหว่างวันที่ 5-7 ตุลาคม 2559 ซึ่งเป็นการสร้างความร่วมมือในการถ่ายทอดองค์ความรู้ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านสื่อสารมวลชน ในสาขาวิทยุและโทรทัศน์ ให้เกิดขึ้นระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อีกทั้งผู้เข้าร่วมอบรมยังสามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการผลิตงานด้านวิทยุและโทรทัศน์ของตนได้ ซึ่งวิทยากรในการอบรมครั้งนี้เป็นอาจารย์ประจำกลุ่มวิชาวิทยุและโทรทัศน์ ได้แก่

  1. อาจารย์พรชัย ฉันต์วิเศษลักษณ์   หัวหน้ากลุ่มวิชาวิทยุและโทรทัศน์
  2. ผศ.ดร. ศิริมิตร ประพันธ์ธุรกิจ
  3. ผศ.ภัทธีรา สารากรบริรักษ์
  4. ผศ.กุลนารี เสือโรจน์
  5. ผศ.นฤมล ปิ่นโต
  6. ผศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม

ในวันสุดท้ายของการอบรมได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์พรทิพย์ สัมปัตตะวนิช คณบดีคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มอบเกียรติบัตรให้กับผู้เข้าร่วมอบรม กล่าวสรุปงานและคำอวยพรให้กับผู้เข้าร่วมโครงการทุกท่าน

Written by Nantawud Deeprasert in: กิจกรรม,วิเทศสัมพันธ์ |
Mar
22
2016
0

150 วัน ชีวิตในนางาซากิ

890 views

JCTeam@yrservice มีนัดคุยกับ 3 นักศึกษาสาว โครงการแลกเปลี่ยนระหว่างคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนกับมหาวิทยาลัยนางาซากิ ที่กลับถึงเมืองไทย เมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คิดเป็นเวลารวมเกือบ 5 เดือน หรือ 150 วันในนางาซากิ จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะได้แนะนำให้เพื่อนๆ น้องๆ รุ่นต่อไป ที่สนใจเข้าร่วมโครงการได้เตรียมตัวและเตรียมใจกับการผจญภัยต่างแดน

jc-stdexchange-nagasagi

1.
“คือ จริงๆ หนูพูดภาษาญี่ปุ่นไม่ได้เลยค่ะ” (หัวเราะ) บทสนทนาแรกทำไมถึงสนใจเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยน ณ มหาวิทยาลัยนางาซากิ ประเทศญี่ปุ่นของ น้องหุ้น สุชาวดี
แต่หนูคิดว่าประเทศญี่ปุ่น เป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมคล้ายๆ กันกับไทย และเป็นประเทศในแถบเอเชียเหมือนกัน มีความปลอดภัย ทุกคนให้การต้อนรับอย่างดีต่อชาวต่างชาติ
เช่นเดียวกับปิ๊ง อิชญา และอิ๋ง ธนพร กล่าวว่า “พวกเราไปแบบมีภาษาญี่ปุ่นพื้นฐานพอติดตัว แต่ถึงขั้นให้พูดแบบจริงๆ จัง ก็คงไม่ได้” ส่วนสาเหตุที่พวกเราเลือกไปญี่ปุ่นอีกอย่างหนึ่งคือ “หนูชอบตรงระบบการศึกษาของญี่ปุ่นที่เป็นระบบ ทุกอย่างเป็นระบบทั้งการใช้ชีวิตของคนในสังคม และสภาพสังคม” น้องอิ๋งกล่าว

2.
ประทับใจแรก ณ นางาซากิ
“สำหรับหนู แน่นอนเลยค่ะ ตื่นเต้นมาก มีตัวแทนจากนางาซากิมารอต้อนรับด้วย ต้องนั่งรถต่อจากฟุกุโอกะไปนางาซากิ หนูได้เห็นถึงความเจริญและความเป็นมิตรของคนญี่ปุ่นที่นี่ เรียกได้ว่าใส่ใจในทุกรายละเอียด…” น้องหุ้นและปิ๋งกล่าวพร้อมกัน
“แต่หนูอยากเสริมนิดนึงค่ะว่า นอกจากที่นี่ผู้คนเป็นมิตรแล้ว บ้านเมืองที่นี่อย่างเป็นระบบและระเบียบมาก” น้องอิ๋งกล่าวเสริม

3.
เรียนอะไร ? ที่นางาซากิ
น้องหุ้น ปิ๊ง อิ๋ง กล่าวว่า “พวกเรานอกจากเรียนภาษาญี่ปุ่นพื้นฐาน 2 ตัวแล้ว ยังได้เรียนวิชา Comparative Culture คล้ายๆ กับวิชาการเปรียบเทียบวัฒนธรรมกันระหว่างญี่ปุ่นกับสังคมอื่นๆ ผ่านภาพยนตร์หรือโฆษณา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในสาขาวิชา Cross Culture Communication (การสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม) ที่ทุกคนสามารถนำความรู้ติดตัวมาใช้ได้ แม้จะไม่มีพื้นฐานภาษาญี่ปุ่นก็ตาม”
“เนื้อหาวิชาส่วนใหญ่จะเป็นการเปรียบเทียบวัฒนธรรมญี่ปุ่นกับสังคมประเทศอื่นๆ เช่น การเปรียบเทียบโฆษณาระหว่างตะวันตกและตะวันออก ทั้งเพลง,ภาพยนตร์ อาจารย์จะมีหัวข้อใหม่ๆ มาให้เราแลกเปลี่ยนและคิดอยู่ตลอดเวลา”น้องหุ้นกล่าวเพิ่มเติม
“แต่ที่ได้แน่ๆ คือภาษาญี่ปุ่น (ยิ้ม) ทั้งสามคน

4.
มารยาททางสังคมในนางาซากิ กับวัฒนธรรมการทิ้งขยะ
สำหรับหนู หนูคิดว่า “ต้องกล้าเปิดรับสิ่งใหม่ๆ รู้จักกาลเทศะ ตัวอย่างเช่น การใช้รถประจำทางสาธารณะทุกคนจะรู้ว่าอะไรควรทำไม่ควรทำต้องมีมารยาทไม่ส่งเสียงดัง ทุกอย่างเงียบมาก ที่นั่นจะไม่ลุกคนแก่นั่งถือเป็นการเสียมารยาทมากเพราะยังถือว่าแข็งแรงอยู่” ปิ๊งกล่าว
หนูอยากฝากอีกเรื่องหนึ่งค่ะ (ยิ้ม) “ที่ญี่ปุ่นแทบจะเป็นวิถีชีวิตของคนที่นี่ไปแล้ว คือคนญี่ปุ่นให้ความจริงจังและใส่ใจกับการทิ้งขยะมาก แยกขยะก่อนทิ้งเป็นอย่างมาก คนที่นั้นจะรับรู้ว่าต้องทิ้งขยะวันไหนแล้วต้องไปทิ้งเองยังจุดรวมที่ทางการจัดไว้ให้ มีลักษณะแบ่งตามสี ในแต่ละวัน ทั้งขยะแบบรีไซเคิลได้ รีไซเคิลไม่ได้” หุ้นกล่าว
“ใช่ค่ะ คนที่นั่นมีจิตสำนึกสูงมาก (เสียงสูง) จะไม่ทิ้งขยะตามพื้นข้างทาง หนูตั้งข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งว่าที่เมืองไทยมีถังขยะเยอะมากแต่ก็ยังทิ้งไม่ลงที่ทิ้ง และไม่มีการแยกขยะ” อิ๋งกล่าวเสริม

5.
เป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนเข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาม – เปิดใจปรับตัวเองให้เข้ากับสังคม
“อยากฝากถึงผู้ที่เข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยน หรือคนที่จะไปศึกษาต่อต่างประเทศต้องเปิดใจยอมรับ และปรับตัวตัวเองให้พร้อมกับการเรียนรู้สภาพแวดล้อมสังคมของประเทศที่ตนไปอยู่ เรียนรู้กับความแตกต่าง พูดง่ายๆ ต้องเข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม แรกๆ ไปแน่นอนทุกอย่างแตกต่างหมด ทั้งการเรียนและสังคม พวกเราอยู่ที่ญี่ปุ่นสังเกตได้ชัดว่า คนญี่ปุ่นมีความขี้อายมาก แต่เวลาเรียนจะเป็นคนกระตือรือร้น กล้าพูด กล้าทำ กล้าแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในชั่วโมงเรียน” อิ๋งกล่าว
สำหรับหนูมองว่า “คนญี่ปุ่นจะมีบุคลิกลักษณะอีกอย่างหนึ่งคือให้ความสนใจในเรื่องศิลปวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก หรือชอบเรื่องราวที่เป็นความรู้ ซึ่งอาจารย์ที่นั่นอาจเล็งเห็นอะไรบางอย่าง (หัวเราะ) พวกเราเลยได้มีโอกาสแสดงศิลปวัฒนธรรมไทยบ้างในงาน Japan Culture Festival ซึ่งได้รับเสียงตอบรับและให้ความสนใจเป็นอย่างมากจากนักศึกษาที่นั่น” หุ้นกล่าวเสริม

6.
อยู่ญี่ปุ่นเรื่องเรียน เป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ
“การใช้ชีวิตของพวกเราในแต่ละวัน จะเรียนวันจันทร์ – ศุกร์ ตามตางรางที่ได้รับมาเลยค่ะ ตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น .แต่ส่วนใหญ่จะเรียนถึงแค่ 5 โมงเย็น มีตารางเวลาสำหรับรถโดยสารประจำทาง ตกเย็นมาก็มีเวลาอ่านหนังสือทบทวนซึ่งสำคัญมาก เพราะที่ญี่ปุ่นจะต้องทบทวนและเตรียมพร้อมก่อนเข้าเรียนทุกครั้ง และให้ความจริงจังมาก ส่วนการใช้ชีวิตประจำวันแทบไม่ได้ปรับตัวอะไรมาก ตอนเย็นยังมีเวลาทำกับข้าวด้วยกันค่ะ” หุ้นกล่าวโดยสรุป

7.
อยากเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนต้องกล้า – ต้องเปิดใจ และอดทนมากๆ
“โดยส่วนตัวคณะวารสารศาสตร์ฯ มีโครงการแลกเปลี่ยนดีๆ แบบนี้เยอะมาก (หัวเราะ) สำหรับผู้ที่จะไปต้องเปิดใจเรียนรู้วัฒนธรรมในแต่ละประเทศเป็นสิ่งสำคัญ มีความอดทนอาจเจอกับสิ่งที่เราไม่ชอบหรือเราไม่ได้คาดหวังไว้” หุ้นกล่าว
“ส่วนหนูคิดว่าเมื่อมีโอกาสควรไปลองค่ะ สำหรับหนูคิดว่าคุ้มค่ามากกับการเสี่ยง และตัดสินใจร่วมโครงการแลกเปลี่ยน” ปิ๊งกล่าว
สำหรับหนูคิดว่า “โอกาสได้ไปต่างประเทศไม่ได้มีง่ายๆ ใช้ชีวิตกับคนรุ่นราวคราวเดียวกันไม่ได้มีโอกาสง่ายๆ แบบนี้ ไม่ใช่ว่าเสียเงินแล้วไปได้ทันที แลกกับประสบการณ์ดีๆ ความทรงจำดีๆ ถือว่าคุ้มมากค่ะ”อิ๋งกล่าวทิ้งท้าย”
//////////////////////////////////////////////////////////////////////

ที่มา: https://www.facebook.com/JCTeam.yrservice/posts/987883027952714:0

Written by Anchulee.Vis in: Interview,วิเทศสัมพันธ์ |

Faculty of Journalism and Mass Communication, Thammasat University | email: jc.thammasat@gmail.com
StartCounter@15052010

  • Twitter
  • Facebook
  • YouTube