May
13
2010

การดำเนินงาน

3,648 views

การดำเนินงานของคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนได้แบ่งการบริหารจัดการออกเป็น งานหลัก คือ

1. ด้านการสอน

ด้านการเรียนการสอนคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ได้เปิดหลักสูตรการเรียนการสอนระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก โดยในการจัดการศึกษาแต่ละหลักสูตรเป็นดังนี้

ระดับปริญญาตรี

หลักสูตรวารสารศาสตรบัณฑิต เปิดสอน 2 หลักสูตร ได้แก่

  • หลักสูตรวารสารศาสตรบัณฑิต สาขาสื่อสารมวลชน เป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นกลุ่มวิชาเฉพาะตามความถนัดและความสนใจทางสื่อสารมวลชน คือกลุ่มสาขาวิชาบริหารการสื่อสาร กลุ่มสาขาวิชาหนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ กลุ่มสาขาวิชาวิทยุและโทรทัศน์ กลุ่มสาขาวิชาประชาสัมพันธ์ กลุ่มสาขาวิชาโฆษณา และกลุ่มสาขาวิชาภาพยนตร์และภาพถ่าย
  • หลักสูตรวารสารศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสื่อมวลชนศึกษา ภาคภาษาอังกฤษ เป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นให้เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถทั้งด้านวิชาการและวิชาชีพ มีความเชี่ยวชาญในศาสตร์ด้านสื่อสารมวลชน

ระดับปริญญาโท

หลักสูตรวารสารศาสตรมหาบัณฑิต เปิดสอน 3 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรวารสารศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาสื่อสารมวลชน สาขาการบริหารสื่อสารมวลชน และสาขาการจัดการการสื่อสารองค์กร

  • หลักสูตรวารสารศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสื่อสารมวลชน (MA) เป็นหลักสูตรโครงการปกติ ซึ่งการจัดการเรียนการสอนแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มวิชา ได้แก่

– กลุ่มวิชานโยบายและการวางแผนการสื่อสาร
– กลุ่มวิชาการสื่อสารเพื่อการพัฒนา

  • หลักสูตรวารสารศาสตรมหาบัณฑิต (โครงการพิเศษ) แบ่งออกเป็น 2 สาขาวิชา ได้แก่

– สาขาวิชาการบริหารสื่อสารมวลชน (MCA)
– สาขาวิชาการจัดการการสื่อสารองค์กร (MCM)

ระดับปริญญาเอก

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต เปิดสอน 1 หลักสูตร ได้แก่

  • หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาสื่อสารวิทยา

ทั้งนี้ ในการเรียนการสอนแต่ละหลักสูตร ได้เน้นในการตอบสนองต่อหลักปรัชญาและวัตถุประสงค์ที่ได้กำหนดไว้ในแต่ละหลักสูตร รวมทั้งมีการพัฒนาหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทันสมัย และสอดคล้องกับสภาวการณ์ของสังคมในปัจจุบัน

2. ด้านวิจัย

คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนมีนโยบายและแผนงานวิจัยไว้อย่างชัดเจน โดยตั้งคณะกรรมการดูแลงานวิจัย ซึ่งได้แก่ คณะกรรมการวิจัยและตำรา ซึ่งดูแลในเรื่องข้อมูลข่าวสารการวิจัย การดำเนินการตามกระบวนการ ขั้นตอนการทำโครงการวิจัย และส่งเสริมสนับสนุนงบประมาณการวิจัยแก่บุคลากรของคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน อีกทั้งมีการจัดเตรียมอุปกรณ์และสถานที่เพื่อการค้นคว้าข้อมูลข่าวสาร โดยควบคุมดูแลการดำเนินงานของศูนย์วิจัย ระบบข้อมูลและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ

3. ด้านบริการสังคม

คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนมีคณะกรรมการบริการสังคม มีหน้าที่วางแผน บริการ และดำเนินงานเกี่ยวกับการบริการทางวิชาการในลักษณะโครงการบริการสังคม และโครงการเลี้ยงตัวเอง ทั้งแบบโครงการสามัญและโครงการพิเศษ

  • โครงการสามัญ ได้แก่ การจัดประชุม การจัดอบรมสัมมนาทางวิชาการด้านสื่อสารมวลชน เพื่อบริการสังคม
  • โครงการพิเศษ ได้แก่ การจัดการเรียนการสอนบริการสังคม โดยจัดเป็นโครงการศึกษาหลักสูตรปริญญาตรี สาขาวิชาสื่อมวลชนศึกษา (ภาคภาษาอังกฤษ) และหลักสูตรปริญญาโท 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรวารสารศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการบริหารสื่อสารมวลชน และสาขาวิชาการจัดการการสื่อสารองค์กร

4. ด้านบำรุงศิลปวัฒนธรรม

คณะมีนโยบายและแผนการดำเนินงานอย่างชัดเจน โดยให้ความสำคัญต่อการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม อาทิ ในหลักสูตรที่เน้นวิชาสื่อสารในการเป็นเครื่องมือและวิธีการสำหรับการรักษาเอกลักษณ์ และอัตลักษณ์ของชาติ ดังนั้น ในหลักสูตรวารสารศาสตรบัณฑิตจะบรรจุวิชาที่เน้นให้นักศึกษาได้เห็นถึงความสำคัญของศิลปวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ไทย เช่น วส. 205 ศิลปเพื่อการสื่อสาร วส.209 สื่อประเพณี วส. 336 การละครและดนตรี วส. 373 ภาพยนตร์สารคดี และ วส. 390 ความรู้เบื้องต้นทางด้านศิลปวัฒนธรรม และมีสถานีวิทยุกระจายเสียง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คลื่น 981 KHz AM STEREO สำหรับนักศึกษาฝึกปฏิบัติการจัดรายการ ประกอบกับการเรียนการสอนของนักศึกษา สาขาวิทยุและโทรทัศน์ และกิจกรรมที่สอดแทรกรายการศิลปะและวัฒนธรรม รวมทั้งจัดกิจกรรมทางสถานีที่เน้นเรื่องการสร้างเสริมเอกลักษณ์ศิลปะวัฒนธรรม อาทิ รายการเพลงลูกทุ่งธรรมศาสตร์ รายการสโมสรวัฒนธรรม รายการธรรมศาสตร์สานศิลป์ เป็นต้น ประกอบกับได้สนับสนุนการจัดกิจกรรมต่างๆ อาทิ โครงการศึกษาศิลปวัฒนธรรม กิจกรรมในโอกาสคล้ายวันสถาปนาคณะฯ โครงการวารสารศาสตร์ฯ ศึกษาชนบท โครงการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในวันพ่อแห่งชาติ กิจกรรมสืบสานประเพณีสงกรานต์ เป็นต้น

Written by Anchulee.Vis in: |

Faculty of Journalism and Mass Communication, Thammasat University | email: jc.thammasat@gmail.com
StartCounter@15052010

  • Twitter
  • Facebook
  • YouTube