“สื่ออย่างไรให้ (เข้า) ถึงใจเด็ก”

Posted by: | Posted on: May 28, 2013
Read More ...

“สื่ออย่างไรให้ (เข้า) ถึงใจเด็ก”                                                                                   

ประไพพิศ มุทิตาเจริญ
กลุ่มวิชาประชาสัมพันธ์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน

“พวกผู้ใหญ่ไม่รู้หรอกว่า พวกเรากำลังพูดถึงอะไร
แต่เรารู้ว่าเราพูดถึงอะไรอยู่
ครูและผู้ใหญ่และทุกๆ คนคอยแต่สัมภาษณ์คนโน้นคนนี้
ประหลาดใจจังว่า ทำไมล่ะ ทำไมไม่เคยสัมภาษณ์พวกเราบ้าง

– คำพูดบางตอนของเด็กๆ อายุ 8-18 ปี ที่อยู่ในบาร์เบโดส แคนาดา อิสราเอล ปาเลสไตน์ นามิเบีย ไอร์แลนด์เหนือ อังกฤษ และโรมาเนีย จากงานวิจัย “เรื่องเด็ก” ของซาร่าห์ แม็คครัม และพอล เบอร์นัล

 เมื่อใดก็ตามที่มนุษย์ตัวโต หรือที่เรียกกันว่า “ผู้ใหญ่” มีปฏิสัมพันธ์ใดๆ กับมนุษย์ตัวเล็กที่มักถูกเรียกว่า “เด็ก” ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างครู-นักเรียน พ่อแม่-ลูกน้อย พี่-น้อง ลุง-หลาน ฯลฯ ผู้ใหญ่อย่างเราย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่ามักจะมองเห็นพวกเขาเป็นผู้ด้อยกว่า…ไม่มากก็น้อย  ไม่ว่าในเชิงกายภาพ ความคิด หรือทัศนคติที่พวกเขาแสดงออก และไม่ว่าจะด้วยเจตนาหรือไม่ก็ตาม เช่น ความเอ็นดูของผู้ใหญ่ที่มีต่อเด็ก อาจทำให้ความเห็นของเด็กกลายเป็นเรื่องขำขัน สนุกสนาน น่ารัก มากกว่าจะเป็นการแสดงออกถึงความน่าเชื่อถือในความเห็นของเด็ก

หากมองสังคมไทยซึ่งมีสุภาษิตสอนใจต่างๆ ในเชิงให้เด็กรู้สึกว่าต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่อย่างสงบราบคาบ เช่น “เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด” “เป็นผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อน” ฯลฯ แม้คำพังเพยเหล่านี้จะร้อยเรียงขึ้นมาจากเจตนาที่ดี แต่ในอีกมุมหนึ่งก็เป็นสัญญะที่สะท้อนถึงการจำกัดขอบเขตแห่งการให้พื้นที่และคุณค่าของความเห็นหรือทัศนคติของเด็กที่ต้องการสื่อความให้คนตัวโตอย่างเราเข้าใจด้วยเช่นกัน มีคำพูดของเด็กจากงานวิจัยของซาร่าห์ แม็คครัม และพอล เบอร์นัล ตอนหนึ่งที่ว่า “พวกผู้ใหญ่มักจะชอบคิดว่าเราไม่รู้เรื่องอะไรเลย  อย่างเรื่องการเมือง เวลาที่เราแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ พวกเขาก็จะบอกว่า…อยู่เฉยๆ เถอะน่า พวกเธอไม่รู้หรอกว่ากำลังพูดถึงอะไรกันอยู่”

คำพูดของเด็กๆ จากงานวิจัยของซาร่าห์ แม็คครัม และพอล เบอร์นัล สะท้อนความเห็นและความต้องการของมนุษย์ตัวเล็กที่จะได้รับการยอมรับจากมนุษย์ตัวโตได้เป็นอย่างดี..เพียงแค่นั่งนิ่งๆ นึกย้อนกลับไปสมัยที่เราเป็นเด็ก ประโยคเหล่านั้นล้วนเป็นความรู้สึกที่เราต่างมีประสบการณ์ร่วมไม่มากก็น้อย

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราในฐานะมนุษย์ตัวโต ซึ่งทำหน้าที่สื่อมวลชนหรือว่าที่ “สื่อ”ในอนาคต จะถือเป็นหน้าที่หลักในการทำให้เสียงและความคิดของมนุษย์ตัวเล็กเหล่านี้สะท้อนออกไปสู่สังคมโดยไม่ถูกจำกัดพื้นที่และคุณค่าผ่านกระบวนการทำงานของเรา เพราะนั่นหมายถึงการรักษาสิทธิของมนุษย์ตัวน้อยหรือ “เด็ก” ด้วยเช่นกัน

แล้วสื่อมวลชนอย่างเราควรเริ่มต้นอย่างไร  อันที่จริง เพียงแค่เริ่มด้วยการกะเทาะกำแพงอันแข็งแรงที่เรียกว่า “ทัศนคติ” ซึ่งมองมนุษย์ตัวเล็กเหล่านี้เป็นเพียง “เด็ก” และทำให้เห็นคุณค่าเขาว่าเป็น ”มนุษย์คนหนึ่ง” ที่มีสิทธิ์แสดงความเห็น ก็จะได้ผลที่เกิดขึ้นอย่างอัตโนมัติคือการ “เปิดทางสร้างความเข้าใจ” ให้แทรกเข้ามาในตัวผู้ใหญ่อย่างเราได้มากโข  ทว่าการกะเทาะทัศนคติที่สะสมมานานไม่ใช่เรื่องง่าย จากงานวิจัยเกี่ยวกับเด็ก มีประเด็นสะท้อนความรู้สึกที่น่าสนใจต่างๆของเด็กๆ ซึ่งสื่อมวลชนควรตระหนัก สรุปได้ดังต่อไปนี้

  • เด็กต้องการ ”พูด”
  • เด็กมีเรื่องราวน่าสนใจที่จะบอกเล่า
  • เด็กมีมุมมองที่แตกต่างจากผู้ใหญ่
  • เรื่องบางเรื่องมีผลกระทบต่อเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ เช่น การศึกษา การเล่น การถูกทำร้าย การทารุณกรรม ฯลฯ เด็กชอบฟังความคิดและรับรู้ความรู้สึกของเด็กด้วยกัน ซึ่งจะทำให้มีผู้อ่านและผู้ฟังมากขึ้น
  • เด็กมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นและมีสิทธิ์เข้าถึงสื่อ

การทำงานร่วมกับเด็กช่วยให้สื่อมวลชนค้นพบวิธีใหม่ๆ ในการทำงานร่วมกับผู้ใหญ่ได้เช่นกัน เช่น การฝึกทักษะในการเลือกใช้คำในการสื่อสารโดยเฉพาะในเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน เพื่อให้เด็กมีความรู้สึกว่าสื่อไม่ได้ต้องการตัดสินความคิดเห็นของเขา แต่สื่อต้องการหาข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจกับประเด็นนั้นๆ ส่งเสียงสะท้อนให้สังคมเข้าใจด้วย  ทว่าในทางกลับกันก็มีสูตรสำเร็จบางประการที่สื่อมวลชนนิยมใช้เวลาทำงานกับเด็กโดยหารู้ไม่ว่าเด็กๆ ไม่ชอบเลยคือ การใช้ความเห็นของเด็กเป็นเครื่องหย่อนอารมณ์ การนำเด็กน่ารักมาใช้ในสื่อเพื่อดึงดูดความสนใจ หรือแม้กระทั่งการใช้ภาพหรือคำบรรยายที่แสดงให้เห็นเด็กๆ ในสถานการณ์น่าเศร้าเพื่อเรียกน้ำตา สิ่งเหล่านั้นไม่ได้สร้างความรู้สึกเคารพตัวเองแก่เด็กหรือความเคารพตัวเองที่ผู้ใหญ่ควรมีกับเด็กแม้แต่น้อย

ดังนั้นหากสื่อมวลชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการรับฟังเด็กๆ และเข้าใจความรู้สึกของเด็กที่สะท้อนออกมาแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ การศึกษากระบวนการทำงานของสื่อที่จะช่วยกระตุ้นให้พวกเขากล้าเอ่ยความในใจ กล้าให้ความคิดเห็น และในขณะเดียวกัน ก็เพิ่มพื้นที่และรักษาคุณค่าของความคิดเห็นของเด็กๆ เหล่านี้ให้ดีที่สุด โดยผ่านกระบวนการต่างๆ ที่ต้องให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นก่อน ระหว่าง และหลังการสัมภาษณ์เด็ก ดังต่อไปนี้

ก่อนการสัมภาษณ์เด็ก  สิ่งที่สื่อมวลชนควรดำเนินการเป็นประการแรก นั่นคือ การขออนุญาตอย่างเป็นทางการจากผู้ปกครอง โรงเรียน หรือองค์กรภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ก่อนเข้าไปสัมภาษณ์เด็ก รวมทั้งการตระหนักเสมอว่าสื่อต้องรักษาความลับของเด็กและควรสอบถามความยินยอมจากเด็กและผู้ปกครองก่อนหากจะมีการตีพิมพ์ชื่อหรือเผยแพร่ภาพ นอกจากนี้ในการเผยแพร่ภาพ โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นการสนทนากับกลุ่มเด็กที่มีความอ่อนไหว เช่น กลุ่มเด็กติดเชื้อเอชไอวี  กลุ่มคุณแม่วัยใส กลุ่มเด็กติดเกม ฯลฯหากต้องการเผยแพร่ภาพ นอกจากขออนุญาตแล้วอาจต้องอาศัยเทคนิคอื่นๆเพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดอัตลักษณ์ของเด็ก เช่น การเบลอภาพ  การตั้งกล้องจากด้านหลัง หรือการเลือกใช้มุมกล้องเพื่อปกปิดหน้าตาของเด็ก  เป็นต้น  นอกจากนี้ สื่อควรแนะนำตัวอย่างชัดเจนว่าเป็นใคร มาจากสังกัดใด และให้ข้อมูลที่เด็กและผู้ปกครองทราบว่าจะสามารถติดต่อสื่อนั้นๆได้ที่ใด และต้องนำสำเนาของชิ้นงานที่เสร็จแล้ว 1 ชุดไปมอบให้เด็กและผู้ปกครองด้วย

จากนั้น สื่อควรเตรียมตัวและเผื่อเวลาในการสัมภาษณ์เด็กให้นานพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กที่มีประเด็นเรื่องความอ่อนไหว เช่น กลุ่มเด็กพิเศษ กลุ่มคุณแม่วัยใส กลุ่มเด็กชายขอบ ฯลฯ อาจต้องเพิ่มเวลาทำความคุ้นเคยและทำให้เด็กรู้สึกเป็นกันเองมากเป็นพิเศษ บ่อยครั้งอาจจำเป็นต้องไปพบและทำความคุ้นเคยกับเด็กก่อนสัมภาษณ์จริง เช่น การเตรียมตัวล่วงหน้าเรื่องภาษาถิ่นง่ายๆ ก่อนสัมภาษณ์เด็กชายขอบ การแต่งตัวที่ไม่เป็นทางการหรือเป็นพื้นถิ่นเดียวกันกับเด็กกลุ่มนั้นๆอาจช่วยให้ช่องว่างระหว่างสื่อและเด็กน้อยลง รวมทั้งละลายพฤติกรรมเด็กๆได้เร็วขึ้น

สถานที่ในการสัมภาษณ์ก็เป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งเช่นกัน หากเป็นไปได้สื่อมวลชนควรเลือกสถานที่สัมภาษณ์ที่เด็กมีความคุ้นเคย รู้สึกปลอดภัย สบายใจ และมีความเป็นส่วนตัว เช่น โรงเรียน บ้าน ฯลฯ

อย่างไรก็ดีมีข้อสังเกตประการหนึ่งที่ได้จากการดำเนินการสัมภาษณ์กลุ่มในงานวิจัยเรื่อง “การศึกษาพฤติกรรมการบริโภคสื่อและการเรียนรู้ทักษะด้านการเท่าทันสื่อของเยาวชนในเขตปทุมธานี”  ซึ่งมีการทำสนทนากลุ่มเด็กชั้นมัธยมต้นในโรงเรียนแถบปทุมธานี ที่ผู้เขียนคิดว่าจะเป็นประโยชน์ในการสัมภาษณ์เด็ก พบว่าในบางกรณีที่มีความละเอียดอ่อน เช่นเรื่องเด็กติดเกม การที่ผู้ใหญ่หรือสื่อต้องการข้อมูลที่รอบด้านจากเด็กโดยตรง บางครั้งการมีผู้ใหญ่ เช่น พ่อแม่ หรือ ครูอาจารย์ที่คุ้นเคยอยู่ด้วยขณะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น  เด็กกลุ่มนั้นอาจรู้สึกอึดอัดและไม่ต้องการแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปมาก็เป็นได้ ในกรณีเช่นนี้อาจสะท้อนได้ว่า ในบางกรณีก็ไม่มีสูตรตายตัวในการสัมภาษณ์เด็กว่าต้องมีผู้ใหญ่ที่คุ้นเคยอยู่ด้วย สื่อที่ทำการสัมภาษณ์ควรพิจารณาเป็นแต่ละกรณีไปด้วยเช่นกัน

ระหว่างการสัมภาษณ์เด็ก  สื่อมวลชนควรให้เด็กมีโอกาสทำความรู้จักกับผู้สัมภาษณ์ด้วยให้เวลาเพียงพอในการแนะนำตัว อธิบายจุดประสงค์และความตั้งใจในการเข้าสัมภาษณ์ด้วยภาษาที่เด็กเข้าใจได้

ระหว่างการสัมภาษณ์ สื่อควรสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรด้วยการแสดงท่าทีต่อเด็กเหมือนเป็นเขาเป็นคนสำคัญที่มีเรื่องราวน่าสนใจจะบอกเล่า รับฟังอย่างตั้งใจ และพยายามคุยกับเด็กในระดับเดียวกัน เช่นไม่เลือกเก้าอี้ที่สูงกว่า หรือสวยกว่า เพราะจะทำให้เด็กรู้สึกว่าแตกต่างจากเขา รวมทั้งต้องระมัดระวัง ช่างสังเกต และไวต่อความรู้สึกของเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเด็กรู้สึกอ่อนไหวในประเด็นต่างๆ ที่ชวนคุย เช่น  การร้องไห้ การกัดเล็บ เริ่มมองหาผู้ปกครอง การนิ่งเงียบ ไม่ตอบ เป็นต้น หากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ สื่ออาจเปลี่ยนประเด็น โดยคุยเรื่องอื่นให้เด็กสบายใจและรู้สึกผ่อนคลายก่อน เช่น  “เหนื่อยรึยังคะ พักทานขนมสักพักก่อนไหม”  ฯลฯ  ไม่ควรยึดติดกับประเด็นคำถามที่เตรียมมาจนมองข้ามความไม่สบายใจหรือความรู้สึกอึดอัดที่เด็กพยายามสื่อสารให้ทราบ และหากหยุดพักชั่วคราวแล้ว สื่ออาจเริ่มประเด็นใหม่ด้วยการเลือกวิธีการอื่นที่สะท้อนความเห็นของเด็กมาประยุกต์ใช้ได้เช่นกัน เช่น การใช้บุคคลที่สามแทนตัวเด็ก “ตามความเห็นของหนูคิดว่าเพื่อนของหนูแก้ปัญหาได้ดีรึยังคะ ถ้ายังหนูคิดว่าควรทำอย่างไรดี” หรือ อาจใช้วิธีอื่น เช่นการวาดรูปให้เด็กระบายความรู้สึกที่มีต่อเรื่องนั้นๆ แทน เป็นต้น  อย่างไรก็ดี หากเด็กส่งสัญญาณที่อึดอัดและไม่ต้องการแลกเปลี่ยนในประเด็นดังกล่าว สื่อควรเลือกที่จะหยุดการสัมภาษณ์ในวันนั้น แล้วรอนัดสัมภาษณ์ในโอกาสต่อไป

นอกจากนี้ สื่อต้องเผื่อใจและเตรียมพร้อมรับอารมณ์และความต้องการของเด็ก แม้จะไม่ได้คำตอบอย่างที่หวังไว้ อย่างไรก็ดี เมื่อเด็กเริ่มรู้สึกเชื่อใจและเริ่มพูดคุยอย่างไว้ใจเรามากขึ้น สื่อควรหมั่นสังเกตและจับประเด็นที่เด็กให้ความสำคัญเพื่อหาข้อมูลในเชิงลึกได้มากขึ้น เด็กบางกลุ่ม เช่น เด็กที่ใช้ชีวิตเร่ร่อนข้างถนน อาจะมีปมปัญหาในใจค่อนข้างลึก สื่ออาจต้องให้เวลาในการสร้างความไว้วางใจมากเป็นพิเศษ และควรสอบทานข้อมูลจากคนใกล้ชิดเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนที่สุดอีกทางหนึ่ง

ในด้านการใช้ภาษา สื่อควรเลือกคำที่เข้าใจง่าย สื่อความหมายได้ชัดเจน โดยปรับคำถามหรือคำอธิบายให้อยู่ในระดับที่เด็กวัยนั้นจะเข้าใจ หรือถามซ้ำโดยใช้ประโยคที่หลากหลายเพื่อยืนยันคำตอบ หากเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวมาก ควรเริ่มต้นด้วยการถามความเห็นทั่วไปก่อน เช่น “ขายพวงมาลัยสนุกไหม” “มีเพื่อนเยอะหรือเปล่า” ก่อนจะถามเจาะลึกความรู้สึกมากขึ้นว่า “น้องรู้สึกอย่างไรบ้างที่ต้องมาเดินขายพวงมาลัยทุกวันหลังเลิกเรียน” นอกจากนี้สื่อควรระลึกเสมอว่าเด็กสามารถเปลี่ยนใจได้ โดยให้เด็กเป็นผู้สรุปการสัมภาษณ์เอง และหมั่นคุยและถามเด็กๆ ว่า “มีอะไรบ้างที่เขาพูดไปแล้วและยังอยากบอกอะไรที่เกี่ยวกับเรื่องนี้อีกไหม”

หลังการสัมภาษณ์ สื่อควรแจ้งให้เด็กหรือผู้ปกครองทราบตลอดการทำงานว่า สื่อกำลังอยู่ในขั้นตอนการทำงานส่วนไหน อย่างไร  และพร้อมจัดเตรียมข้อมูลให้เด็กและผู้ปกครองพิจารณา รวมทั้งเมื่อเสร็จขั้นตอนการผลิตแล้ว สื่อควรส่งสำเนาให้เด็กและผู้ปกครองไว้เป็นหลักฐานด้วย

เมื่ออ่านถึงตรงนี้ ..อย่าเพิ่งถอนหายใจเมื่อเห็นกระบวนการขั้นตอนที่หลายคนอาจมองว่ามีรายละเอียดและยุ่งยาก เพราะสื่ออย่างเราก็ต้องไม่ลืมว่ามนุษย์ตัวเล็กเหล่านี้มีความเปราะบางและสมควรได้รับการปกป้องดูแลอย่างระมัดระวัง ถ้าถึงเวลาลงมือจริงแล้วนึกอะไรไม่ออก มีเทคนิคเฉพาะตัวประการหนึ่งที่เป็นสูตรพิเศษให้สื่อตัวโตอย่างเราจำใส่ใจไว้ นั่นก็คือ การระลึกไว้เสมอว่า “เมื่อใดที่นึกขั้นตอนการปฏิบัติต่อเด็กไม่ได้ ให้พึงปฏิบัติต่อเด็กเหมือนลูกหลานของเราเอง” ด้วยหลักง่ายๆ แค่นี้ สื่อมวลชนตัวโตอย่างเราก็สามารถรักษาสิทธิ์ให้มนุษย์ตัวน้อยที่ชื่อว่า ”เด็ก” ได้แล้ว หรือหากมีความผิดพลาดเกิดขึ้นก็จะไม่มากและไม่ร้ายแรงเกินแก้ …และความจริงใจเช่นนี้ของผู้ใหญ่อย่างเราจะทำให้มนุษย์ตัวเล็กๆ ไม่ว่าจะฤทธิ์มากปากแข็งกับใครสักแค่ไหน ยอมละลายให้เราได้เป็นแน่…. ; )

****เด็ก หมายถึงบุคคลที่อายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์

Comments

comments





Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *