โครงการสัมมนา จากการผลิตคำบรรยายเป็นเสียงฯ

Read More ...

โครงการสัมมนา การจัดการความรู้ (Knowledge Management) สู่สถาบันแห่งการเรียนรู้

เรื่อง “จากการผลิตคำบรรยายเป็นเสียง เพื่อผู้พิการทางสายตา…สู่การเรียนรู้ในชั้นเรียน”

********************************

 

ที่มาและความสำคัญ

ปัจจุบันมีผู้ด้อยโอกาสทางสังคมที่ต้องการความช่วยเหลือในแง่มุมต่างๆเป็นจำนวนมาก บุคคลเหล่านี้มีความต้องการรับรู้ข่าวสาร สาระประโยชน์ และความเพลิดเพลินเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป แต่การเข้าถึงสื่อต่างๆของพวกเขาเป็นไปด้วยความยากลำบาก จนเมื่อเดือนมีนาคม 2556 มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง กสทช. กับสถานีวิทยุโทรทัศน์ สมาคมคนพิการที่เกี่ยวข้องและสถาบันการศึกษา ในการให้บริการ “คำบรรยายเป็นเสียง”  บริการคำบรรยายเป็นอักษร (Caption) และการบริการภาษามือ (Sign Language) เพื่อให้ผู้พิการทั้งทางการเห็นและการได้ยินได้รับรู้ข่าวสารเท่าเทียมกับผู้ที่มีสายตาปกติ โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ร่วมลงนามความร่วมมือเป็นผู้ผลิตคำบรรยายเป็นเสียงให้กับรายการโทรทัศน์ “อร่อยอย่างยิ่ง” ออกอากาศทางสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย AM 837 KHz และรายการ “กินอยู่คือ” ออกอากาศทางสถานีวิทยุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ AM 981 KHz และสถานีวิทยุไทย พีบีเอสออนไลน์

กระบวนการผลิต “คำบรรยายเป็นเสียง” ดังกล่าว อาจารย์ผู้สอนสาขาวิชาวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์  คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้เขียนบทและลงเสียงบรรยาย โดยอาจารย์ผู้สอน วิชาการประกาศทางวิทยุและโทรทัศน์ ได้นำประสบการณ์การทำ “คำบรรยายเป็นเสียง” มาเล่าให้นักศึกษาในชั้นเรียนวิชาการประกาศทางวิทยุและโทรทัศน์ ภาคเรียนที่ 1/2556  ฟัง  จากนั้นมีการตกลงร่วมกันในชั้นเรียนที่จะทดลองผลิต “คำบรรยายเป็นเสียง” เพื่อผู้พิการทางสายตาขึ้น โดยในภาคเรียนที่ 1 มีนักศึกษา 38 คน เข้าร่วมโครงการ ต่อมาได้มีการจัดโครงการทดลองผลิต “คำบรรยายเป็นเสียง” เพื่อผู้พิการทางสายตาในชั้นเรียนวิชาการประกาศทางวิทยุและโทรทัศน์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งในภาคเรียนที่ 1 และภาคเรียนที่ 2

ผลสัมฤทธิ์จากการทำโครงการนี้ เห็นได้ชัดเจนในด้านการเรียนการสอนวิชาการประกาศทางวิทยุและโทรทัศน์ที่ได้รับจากการผลิตชิ้นงานจริง เพราะนักศึกษาส่วนใหญ่ตระหนักถึงความสำคัญในการส่งสารมากขึ้น ทั้งในเรื่องการออกเสียงให้ชัดเจน ถูกต้อง เพราะต้องอ่านเพื่อให้ผู้พิการทางการเห็นรับฟังแล้วเข้าใจ อีกทั้งยังเป็นการอ่านเพื่อการผลิต “คำบรรยายเป็นเสียง” ทำให้มีข้อจำกัดเรื่องเวลา จึงต้องอ่านให้ได้รวดเร็วในเวลาจำกัด แต่มีความชัดเจนถูกต้อง มีจังหวะที่ผู้รับสารสามารถจะติดตามและทำความเข้าใจได้ ทั้งยังต้องปรับอารมณ์การบรรยายให้เข้ากับเนื้อหารายการโทรทัศน์ในตอนนั้น

ประเด็นสำคัญที่นักศึกษาได้เรียนรู้อีกประการหนึ่งคือ การได้บูรณาการการเรียนรู้ที่สั่งสมจากวิชาต่างๆ ตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 มาใช้ในการผลิตรายการโทรทัศน์ที่มี “คำบรรยายเป็นเสียง” กล่าวคือ นักศึกษาต้องใช้ทักษะด้านการเขียนบรรยาย การเขียนบทโทรทัศน์ การวิจัย การประกาศ การลงเสียงบรรยาย การตัดต่อ ฯลฯ  ทั้งยังได้ฝึกการทำงานเป็นทีม การติดต่อประสานงานกับบุคคลภายนอก และอื่นๆ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการเสริมประสบการณ์ก่อนเรียนจบออกไปทำงานจริง

จากกระบวนการเรียนการสอนที่สร้างให้นักศึกษามีส่วนร่วมในการผลิต“คำบรรยายเป็นเสียง” ให้แก่ผู้พิการทางสายตา ในวิชาการประกาศทางวิทยุและโทรทัศน์ นั้น คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน เห็นความสำคัญของการรวมรวมองค์ความรู้ดังกล่าวไว้เพื่อประโยชน์ในการศึกษาเรียนรู้และการใช้งานร่วมกันของคณาจารย์ทั้งหมดในคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ที่อยู่ในกลุ่มวิชาต่างๆ คือ วิทยุและโทรทัศน์ ภาพยนตร์และภาพถ่าย โฆษณา ประชาสัมพันธ์ หนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ บริหารการสื่อสารและสื่อมวลชนศึกษา อันจะเกิดประโยชน์ต่อการค้นคว้าประกอบการเรียนการสอน การอ้างอิง และการวิจัยต่อไปในอนาคต โดยการเรียนรู้ดังกล่าวสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่4 ของคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ว่าด้วยการส่งเสริมบทบาทในการชี้นำและนำเสนอทางออกอย่างสร้างสรรค์จากความรู้และเชี่ยวชาญของคณะให้แก่สังคม

 

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อสรุป เรียบเรียง วิเคราะห์องค์ความรู้ที่ได้จากการผลิต“คำบรรยายเป็นเสียง” และกระบวนการจัดการเรียนการสอน
  2. เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ที่ได้จากการ ผลิต“คำบรรยายเป็นเสียง” และกระบวนการจัดการเรียนการสอนสู่กลุ่มเป้าหมาย
  3. เพื่อเปิดพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างคณาจารย์ในคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน

กลุ่มเป้าหมาย​  คณาจารย์คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนและบุคลากรที่สนใจ จำนวน 53 คน

ลักษณะการจัดกิจกรรม

  1. กิจกรรมทดลองผลิต “คำบรรยายเป็นเสียง” เพื่อผู้พิการทางสายตา ของนักศึกษา ในวิชาการประกาศทางวิทยุและโทรทัศน์ โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ภัทธีรา สารากรบริรักษ์ เป็นผู้สอนในภาคเรียนที่ 1/2556 และได้เชิญอาจารย์อารดา ครุจิต และอาจารย์กุลนารี เสือโรจน์ จากสาขาวิทยุและโทรทัศน์เป็นวิทยากรอบรมการผลิต “คำบรรยายเป็นเสียง” ให้แก่นักศึกษา จากนั้น นักศึกษาเริ่มทำสำรวจแบบง่ายเพื่อทราบลักษณะการเปิดรับชมรายการโทรทัศน์ของผู้พิการทางการเห็น โดยเก็บข้อมูลจากผู้พิการทางการเห็น ทั้งที่ตาบอดสนิท และที่มีสายตาเลือนราง จำนวนทั้งสิ้น 136 คน และใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูล จากนั้นนำผลที่ได้มาพิจารณาและเลือกรายการที่ได้รับความสนใจจากกลุ่มตัวอย่างมากที่สุด เริ่มเขียนบท “คำบรรยายเป็นเสียง” นักศึกษาได้ติดต่อผู้พิการทางการเห็น ทั้งที่ตาบอดสนิท และที่มีสายตาเลือนรางให้ชมรายการที่มี “คำบรรยายเป็นเสียง” ซึ่งนักศึกษาผลิตขึ้น จำนวน 35 คนและท้ายสุดผู้พิการทางการเห็นได้ให้ความคิดเห็นหลังการรับชมในภาคเรียนที่ 2 มีลักษณะการดำเนินการที่ใกล้เคียงกัน โดยมี อ.กุลนารี เสือโรจน์เป็นผู้สอน ในภาคเรียนที่ 2 นี้ ในช่วงของการอบรมให้ความรู้ จัดเป็นลักษณะการสัมมนาโดยเชิญวิทยากรผู้ผลิตคำบรรยายเป็นเสียง วิทยากรที่เคยทำงานร่วมกับผู้พิการทางการเห็น และวิทยากรที่เป็นผู้พิการทางการเห็น เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับวิทยากรอย่างเต็มที่
  2. กิจกรรมการสัมมนาเรื่อง  การผลิตเสียงบรรยายสำหรับคนตาบอด ในภาคเรียนที่ 1/2556 จัดขึ้นวันอังคารที่ 16 กรกฎาคม 2556 ณ ห้องปฏิบัติการชั้น 2 ตึกคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตโดยวิทยากรจากสมาคมหรือมูลนิธิที่เกี่ยวข้องกับผู้ด้อยโอกาสในสังคม หรือผู้ผลิตเสียงบรรยายสำหรับคนตาบอดและตัวแทนนักศึกษาโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ภัทธีรา สารากรบริรักษ์ สาขาวิชาวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์เป็นผู้จัด และในภาคเรียนที่ 2/2556 จัดขึ้นในวันที่ 14 มกราคม 2557 โดยมี อ. กุลนารี เสือโรจน์ เป็นผู้จัด
  3. กิจกรรมการแบ่งปันแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับประเด็นการผลิตคำบรรยายเป็นเสียงเพื่อผู้พิการทางสายตา เพื่อให้เกิดพื้นที่การสื่อสารแบบ Face to face ระหว่างคณาจารย์ในคณะ ที่อยู่ในกลุ่มวิชาต่างๆอาทิภาพยนตร์และภาพถ่าย โฆษณา ประชาสัมพันธ์ ที่มีการผลิตสื่อเป็นภาพเคลื่อนไหวและเสียง เพื่อเกิดการเรียนรู้ในในเชิงประจักษ์ ซึ่งจะทำให้กลุ่มเป้าหมายเข้าใจเนื้อหาประเด็นการผลิตคำบรรยายเป็นเสียง ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ภัทธีรา สารากรบริรักษ์และอาจารย์กุลนารี เสือโรจน์เป็นวิทยากร
  4. กิจกรรมการเผยแพร่องค์ความรู้สู่กลุ่มเป้าหมายผ่าน www.jc.tu.ac.th และ เพื่อพัฒนาพื้นที่ที่คณาจารย์ในคณะสามารถเข้าถึงข้อมูลและองค์ความรู้ได้ง่าย สะดวกต่อการใช้งาน และรวดเร็ว นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งรวบรวม เก็บรักษาองค์ความรู้ที่คณะทำงานได้ผลิตขึ้นให้เป็นระเบียบ

ตัวชี้วัดความสำเร็จ 

        คณาจารย์ในคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนสามารถออกแบบและผลิตชุดความรู้เกี่ยวกับ “การผลิตคำบรรยายเป็นเสียง” เพื่อผู้พิการทางสายตาและนำไปใช้ในการเรียนการสอนได้

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

  1. คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนมีฐานข้อมูลองค์ความรู้ที่ได้จากการผลิต“การผลิตคำบรรยายเป็นเสียง เพื่อผู้พิการทางสายตา”
  2. คณาจารย์ในคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ที่ได้จาก “การผลิตคำบรรยายเป็นเสียง” เพื่อผู้พิการทางสายตา”
  3. คณาจารย์ในคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการเรียนการสอน

ระยะเวลาดำเนินการ

วันอังคารที่ 27 พฤษภาคม 2557 ตั้งแต่เวลา 09.00 – 12.00 น. ณ ห้องประชุมเกษม ศิริสัมพันธ์ ชั้น 4

กำหนดการ

โครงการสัมมนา การจัดการความรู้ (Knowledge Management) สู่สถาบันแห่งการเรียนรู้
เรื่อง “จากการผลิตคำบรรยายเป็นเสียง เพื่อผู้พิการทางสายตา…สู่การเรียนรู้ในชั้นเรียน”

วันอังคารที่ 27  พฤษภาคม 2557 เวลา 09.00 – 12.00 น.

ณ ห้องประชุมเกษม ศิริสัมพันธ์ ชั้น 4 

***************

08.30 – 08.45 น.
ลงทะเบียน

08.45 – 09.00 น.
พิธีเปิดสัมมนา การจัดการความรู้ (Knowledge Management) สู่สถาบันแห่งการเรียนรู้ เรื่อง “จากการผลิตคำบรรยายเป็นเสียง เพื่อผู้พิการทางสายตา…สู่การเรียนรู้ในชั้นเรียน”
โดย คณบดี รองศาสตราจารย์พรทิพย์  สัมปัตตะวนิช

09.00 – 12.00 น.
สัมมนาเรื่อง“จากการผลิตคำบรรยายเป็นเสียง เพื่อผู้พิการทางสายตา…สู่การเรียนรู้ในชั้นเรียน”
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภัทธีรา  สารากรบริรักษ์ และอาจารย์กุลนารี  เสือโรจน์

พร้อมสรุปการสัมมนา และปิดการสัมมนา

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *