Aug
18
2013
0

“ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น” มุมมองจาก อ.อ๋อ

861 views

kalyakorn-hormones

ที่มา : https://www.facebook.com/JCTeam.yrservice

เนื่องจากวันพุธที่ 21 สค.นี้ คณะฯ เราจะมีงานเสวนา “เสรีภาพสื่อไทยในวันที่ไร้ฮอร์โมน” ร่วมกับ กสทช. และเพื่อให้เข้ากับกระแสที่กสทช. กำลังเปิดพื้นที่ในการให้ฝ่ายต่างๆ แสดงความคิดเห็นต่อร่างประกาศเรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ โดยมุ่งให้เป็นแนวปฏิบัติที่สนับสนุนให้พรบ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551

ซึ่งบัญญัติห้ามมิให้มีการออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือมีการกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจาร หรือมีผลกระทบต่อการทำให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรงมีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น

เรามีมุมมองจาก อ.กัลยกร วรกุลลัฎฐานีย์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ ถึงความรู้สึกเกี่ยวกับซีรีย์สุดฮิต “ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น” ที่เปิดเผยชีวิตวัยรุ่นอย่างตรงไปตรงมา จนหลายสื่อ และองค์กรต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่น กสทช. จับตามอง น่าคิดว่าหากร่างประกาศนี้มีผลบังคับใช้จริง ซีรี่ย์อย่างฮอร์โมนจะเผยแพร่ได้อย่างเสรีหรือไม่ ในฐานะที่ อ.อ๋อ เป็นทั้งอาจารย์ทางด้านสื่อสารมวลชนและเป็นคุณแม่ที่มีลูกสาวอยู่ในช่วงวัยรุ่นนั้น อ.อ๋อ จะมีความคิดเห็นอย่างไรกับซีรีย์เรื่องนี้ ติดตามได้จากบทสัมภาษณ์กันได้เลย!

อาจารย์เริ่มดูฮอร์โมนได้อย่างไร

“ตอนแรกครูก็ไม่ได้ดูหรอกนะ แต่ก็ เหมือนกับว่าในสื่อ เค้าก็พูดกันว่า มันเปิดเผยด้านมืดของวัยรุ่น พ่อแม่ควรจะดู เลยลองเปิดดู ทางยูทูป ตอนแรก มันก็สนุกดีเนอะ ครูดูรวดแบบ 4 ตอน เปิดไปเรื่อยๆแบบลูกไม่อยู่บ้าน สกรีนดูก่อน เผื่อลูกอยากดูด้วย หลักๆก็คือกระแสมันเยอะ เลยลองๆสกรีนดูก่อนนิดนึง ว่า มันเป็นยังไง เราก็อยากรู้ด้วยแหละ ว่าเค้าบอกด้านมืด จะมืดขนาดไหน เปิดดูแล้ว ต้องบอกว่า มันไม่มีอะไร ครูดูแล้วคิดว่า เป็นเรื่องปกติ ธรรมดาทั่วไป เหมือนกับ เห็นในหนังใหญ่ของพวก GTH ก็สไตล์แบบนี้ อารมณ์ประมาณแบบนี้เหมือนกัน คือจะเป็นฉากอะไรแบบนี้ ไม่ได้ เกินความคาดหมาย ว่าวัยรุ่นขนาดนี้เชียวหรอ คือก็เป็นวัยรุ่นในการรับรู้ของเรา เค้าก็เป็นแบบนี้แหละ ครูก็เลยคิดว่า โอเค ให้ลูกดูได้ ลูกดูก็เริ่มติด แต่ว่าจะมีตอนหนึ่งที่ ครูต้องสกรีน คือ ดูแล้วมันเป็นยังไงก่อน มันมีตอนที่มีน้องดาวเนี่ย มันเป็นเรื่องแบบอย่างว่าที่เราก็ขอสกรีนดูนิดนึงก่อน ก็นั่งดูกับลูก เพราะเรื่องของน้องดาว ก็ด้วยความที่ ลูกครูยังเด็กอยู่ 12 เลยต้องนั่งดูกับเค้า อธิบายว่าทำไมถึงเป็นอย่างนี้ แต่เค้าก็เข้าใจนะ เราก็ เสริมๆเขาก็เข้าใจ”

อาจารย์คิดว่าเรื่องนี้ให้แง่คิดอย่างไร ทั้งต่อเด็กที่ดูแล้วก็ผู้ใหญ่

“ครูไม่แน่ใจเหมือนกัน ครูดูแล้วครูก็ว่า ไม่ได้เกินความคาดหมาย แต่ว่า เพื่อนที่ดู มีเพื่อนบางคนที่เค้าเป็นคุณแม่ แล้วเค้าไม่ได้อยู่กับเด็กเหมือนอย่างนี้ เค้าก็จะรู้สึกว่า ถึงขนาดนี้เชียว เดินสูบบุหรี่ทำไม มีอะไรกันในโรงเรียน เหมือนกับว่า เค้าเปิดโลกมหัศจรรย์ขึ้นมา อะไรอย่างนี้ ก็เลยคิดว่า ถ้าเป็นคุณแม่ที่ไม่ได้ใกล้ชิดกับเด็กวัยรุ่นมากพอ เค้าก็อาจจะคิดไม่ดี แต่ในมุมที่ดี คือเขาเห็นว่า Story แบบนี้ มันเกิดขึ้นได้กับทุกระดับชั้น แต่ว่า สำหรับครู ครูว่ามันก็ดีนะ ละครทำให้เราเห็นที่มาที่ไปไม่ไปตัดสินว่าทำไมเด็กคนนี้ถึงเป็นแบบนี้ อย่างเรื่องของไผ่เป็นวัยรุ่น แล้วเค้าเลือดร้อน เค้าเป็นแบบนี้แล้วก็ เข้าใจได้ที่เค้าเป็นคนอย่างนี้เพราะที่บ้านเป็นอย่างไร เลยกลายให้เค้าเป็นแบบนี้ มันไม่ได้มาตัดสินแค่ว่า เค้าเลว เค้าเป็นนักเลงหัวไม้ น่าจะทำให้ เรามองวัยรุ่นด้วยความเข้าใจมากขึ้น ไม่ไปตัดสิน ว่า เค้าเป็นแบบนี้ เพราะว่า เค้าไม่ดีหรือว่า ก่อนหน้านี้เค้า อาจจะเจออะไรมา อย่างน้องดาวอย่าง ก็คิดว่า ทำไมเป็นแบบนี้ แม่เลี้ยงมายังกับไข่ในหิน แต่เค้าไม่เจออะไรเลยอย่างนี้เลย มันก็จะมีที่มาที่ไปของตัวละคร ทำให้เรามองด้วยความเข้าใจมากขึ้นกับวัยรุ่น

แล้วก็สำหรับวัยรุ่นเอง พวกเราโตๆแล้ว ครูว่าเราดูไปแล้ว เราอาจจะ มันก็สนุกดี ชีวิตฉันผ่านมาแล้วอะไรอย่างนี้ แต่ว่าสำหรับ ที่ครูคิดแทนเด็ก ถ้าอยู่ ม. ปลาย มันก็ยังอินอยู่ในนั้น แต่ว่า ม.ต้น ถ้าถามครู ครูว่าอาจจะเด็กไปนิดนึงที่จะเข้าใจ สมมติอย่าง ม.ต้น ม.2 ม.3 ม.1 วัยนี้ ก็ถ้าได้ดูไป พร้อมๆกับผู้ปกครอง ครูว่ามันก็น่าจะเป็นประโยชน์เหมือนกัน ทำให้ เตรียมตัวว่าโลกนี้มันไม่ได้ สีชมพูอย่างที่เค้าคิดมันยังมีอะไรที่อยากจะบอกว่า “เห็นไหม” เพราะบางที่พ่อแม่ สอนไม่หมด ก็เหมือนกับ เป็นละครที่สอนเด็กๆได้ ประมาณหนึ่ง เค้าเตรียมตัวว่า คนมีหลายประเภท เวลาเค้าจะคบเพื่อนในสังคมใหญ่ เค้าควรจะดูยังไงบ้าง และก็ไม่ตัดสินเพื่อน ให้โอกาสเพื่อนด้วย ครูว่ามันน่าจะดี แต่ที่สำคัญ ก็คือว่า ผู้ปกครองอาจจะต้องสกรีนบ้าง ถ้าเป็นเด็กนะคะ หรือว่าดูด้วยเหมือนกันว่ามัน มีบางฉากที่ เด็กไม่เข้าใจ คือเค้าอาจจะเอามาเป็นแบบอย่าง ก็ไม่รู้ว่าครูระวังเกินไปรึเปล่า เพราะเดี๋ยวนี้เด็กเค้าก็จะรู้อะไรเยอะ แต่ ที่เซอร์ไพรส์มากคือ อย่าง ดาวเจอแบบนี้ปั๊ป สิ่งแรกที่ดาวหาคือ หาในกูเกิ้ล ซึ่งทำให้ครูคิดว่า เออเนอะ ถ้าเกิดเด็กวัยรุ่น เป็นอะไรไป คือเค้าเอาตัวรอด มันก็มีช่องทางไม่เหมือนกัน รุ่นครู ไม่มีแบบนี้ ก็ไม่รู้ อาจจะไปปรึกษาใคร ยังไง รู้สึกทุกอย่างสามารถเสร็จสรรพจากการหาได้เองหมด ถ้าเข้มแข็งพอ แต่ว่า มันก็สุ่มเสี่ยง แง่หนึ่งก็เป็นช่องทางที่ ได้แง่มุม”

แล้วอาจารย์นำสิ่งที่ได้ไปปรับใช้ ในการเลี้ยงลูกอย่างไร

“ไม่ได้ปรับใช้แต่ว่ามันมีเนื้อหา ในการคุยกับลูก เหมือนได้แชร์เรื่องวัยรุ่น เรื่องที่เค้าสนใจ และได้ใช้เรื่องราวในหนังเป็นบทสนทนากับลูก อย่างคุยแบบ โตขึ้นจะเป็นเหมือนดาวไหมนี่ย หรือ อย่ามองโลกใส หรือ อย่าเอาแฟนแบบไผ่นะลูก จะเป็นอารมณ์เหมือนกับการล้อเล่นในครอบครัว เป็นการสนทนา การแชร์ในสิ่งที่เราสนใจเหมือนกัน”

อาจารย์คิดว่าทำไมเรื่องนี้ถึงดัง ถึงเป็นกระแสขนาดนี้

“นั่นน่ะสิ ครูก็ยังงงอยู่เลย ไม่เข้าใจเหมือนกัน แต่ครูดูตอนแรกๆ สามสี่ตอนแรกครูดูเหมือนกันนะ แต่ตอนหลังๆโดยส่วนตัวแล้ว คิดว่าเริ่มไม่สนุกแล้ว สนุกแค่สองสามตอนแรกก็มีเรื่องของ วิน เรื่องไผ่ เรื่องน้องดาวก็เป็นประเด็น แต่พอมาสามสี่ตอนหลังเริ่มเฉยๆ ดูเหมือนกับไม่ค่อยมีอะไร จะดูเป็นปัญหาธรรมดาทั่วไป แต่ตอนแรกๆดูมีประเด็นที่น่าสนใจ แต่ถ้าถามว่าทำไมถึงดัง อาจจะเป็นเพราะ GTH แรงโปรโมทของเขา หรืออาจจะเป็นเรื่องวัยรุ่นที่ไม่มีในฟรีทีวี ที่ทำออกมาได้ดีแบบนี้ ช่องฟรีทีวีบางทีเค้าจะพยายามสอนพยายามสรุป แต่อันนี้เขียนบทแต่ละตอนมีความน่าสนใจ ตั้งแต่ชื่อตอนแล้ว แต่ละตอนมีตัวเอกต่างกัน มีนางเอกเป็นตัวดำเนินเรื่องต่างกัน ทำให้เราคิดว่าเขียนบทโอเค และน่าติดตาม”

จะเห็นว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้ซีรีย์เรื่องนี้เป็นกระแสขึ้นมาได้ นอกจากบทแล้ว น่าจะเกิดจากช่องทางการเผยแพร่ที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่าย โดยไม่ต้องผ่านการเซ็นเซอร์ ทั้งนี้ชาวเจซีที่เป็นสาวกซีรีย์ฮอร์โมนทั้งหลายก็อย่ามัวแต่กรี๊ดนักแสดงนะจ๊ะ ถ้าดูแล้วคิดตามไปด้วยก็น่าจะได้แง่คิดอะไรหลายอย่างจากซีรีย์เรื่องนี้ในหลายๆแง่มุมเชียวล่ะ 

 

 

Written by Anchulee.Vis in: Interview |
Sep
04
2012
0

บทสัมภาษณ์ “อาจารย์วารี ฉัตรอุดมผล” รองคณบดีฝ่ายการนักศึกษา

788 views

Varee2

บทสัมภาษณ์ถึงมุมมองของอาจารย์วารี ฉัตรอุดมผล อาจารย์สาวแห่งสาขาภาพยนตร์และภาพถ่าย คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หากใครยังไม่คุ้นชื่อ ถ้าบอกว่าเป็นอาจารย์สาวแห่ง “บ้านเจซี” ที่สอนวิชาการถ่ายภาพขั้นสูง การถ่ายภาพเพื่อโฆษณามาก่อน นักศึกษาคนไหนที่เคยเข้าไปนั่งฟังเลคเชอร์ศิลปะกับภาพถ่ายเชิงวารสารศาสตร์มาแล้ว คงร้องอ๋อกันเลยทีเดียว ส่วนน้องๆ เฟรชชี่มาใหม่ไฟแรงคนไหนที่ยังไม่คุ้น ก็ไม่เป็นไร เรามาทำความรู้จักอาจารย์ท่านนี้พร้อมๆ กันเลยดีกว่า

จากอาจารย์สาวที่มีบุคลิกที่คล่องแคล่ว วันนี้อาจารย์วารีสวมมาดใหม่ (ใจดีกว่าเดิม) ในฐานะอาจารย์ผู้ดารงตาแหน่งเป็นรองคณบดีฝ่ายการนักศึกษา

1. คำว่า Intelligent Imaginative และ Social concerned ในมุมมองของอาจารย์ที่เกี่ยวเนื่องกับคณะวารสารฯ เป็นอย่างไรคะ

เรารู้กันอยู่แล้วว่าเด็กคณะเราไม่ได้เรียนในตำรา เราเรียนจาก outdoor เรียนจากการที่ให้เด็กลงไปปฏิบัติ แล้วก็สิ่งที่ได้ๆ จากการปฏิบัติอยู่แล้ว เป็นความฝันของเด็กอยู่แล้วล่ะที่มาเรียนในสาขานี้ ซึ่งไม่ใช่เด็กที่ชอบทำงานในตำราหรือชอบในเรื่องของตัวเลขอะไรพวกนี้ แต่ชอบ activity

เพราะฉะนั้นคำว่า Intelligent ในที่นี้ คงไม่ได้หมายถึงเรื่องของตำรา แต่เรา Intelligent ในแง่ที่ว่าเราปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ได้ เราก็ใส่ใจในเรื่องของสิ่งที่เป็นไปตามสภาพแวดล้อมต่างๆ ในบริบทของสังคมที่มันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ คือความเป็นนักสื่อสารมวลชนในปัจจุบันที่เราคงรู้กันอยู่แล้วว่าคนในปัจจุบันอยู่กับเทคโนโลยี เพราะฉะนั้นเทคโนโลยีมันวิ่ง คนในองค์การสื่อสารมวลชนก็คงต้องวิ่งด้วย แต่ว่าวิ่งในที่นี้คุณต้องมี Social concerned ในใจขณะที่วิ่ง เพราะว่าถ้าเรามัวแต่วิ่งตามเทคโนโลยีไปเรื่อยๆ ปุ๊บ เราก็จะได้เพียงผู้ตาม โดยไม่มีจริยธรรมอยู่ในใจ สังคมก็คงจะแย่มาก

ซึ่งบางครั้งเราอาจจะลืมคิดไปว่าจริงๆ แล้วเรามีผลกระทบอย่างมากเลยกับวงการสื่อสารมวลแล้วก็กับสังคม เพราะว่าสังคมสมัยนี้เป็นสังคมที่เชื่อสื่อ เชื่อจนไร้สาระในบางครั้ง จึงจำเป็นที่จะต้องมี Social concerned ไว้ในใจของนักสื่อสารมวลชนทุกคนด้วย

เมื่อเราวิ่งอย่าง Intelligent เราวิ่งอย่าง Social concerned ขณะเดียวกันเราวิ่งอย่าง Imaginative ด้วย ในมุมมองของอาจารย์ การที่เราทำกิจกรรมต่างๆ ถ้าเราไม่ใช้จินตนาการในการสื่อสารจะเป็นอะไรที่แห้งตายเกินไปนิดนึงแล้ว เหมือนกับว่ายุคสมัยในปัจจุบันมันเปลี่ยนและเราก็ต่างผ่านอะไรที่คนอื่นเขาทำมากันแล้วทั้งนั้น ทำให้นักสื่อสารมวลชนยุคนี้อาจจะเหนื่อยนิดนึงที่ต้องมีอาหารสมองเยอะ ต้องมี Imaginative เยอะ ต้องคิดและต้องสร้างสรรค์อยู่ตลอดเวลา แม้ว่าจะเหนื่อยแต่เป็นอะไรที่ทำให้งานสื่อสารมวลชนสนุกขึ้น

ในแง่ของการเป็นอาจารย์ก็อาจจะคล้ายๆ กันนะ เพราะว่าคือในงานภาพถ่ายก็เกี่ยวข้องกับงานศิลปะอยู่แล้วงานภาพถ่ายเป็นงานที่อาศัยศิลปะ อาศัยจินตนาการ อาศัย Imagination เยอะมาก แต่ว่าภาพถ่ายในลักษณะของงานสื่อสารมวลชนที่อาจารย์สอนอยู่เป็นภาพถ่ายที่เราใช้การสื่อสารเข้ามาเกี่ยวข้อง คือเราไม่ได้ถ่ายภาพที่เป็นไฟน์อาร์ตสื่อสารในแง่ที่ว่าผู้ส่งสารเข้าใจอยู่เพียงคนเดียว แต่เราต้องการในลักษณะของ Mass นิดนึง

คือต้องการให้คนรับรู้และบอกเล่าเรื่องราวให้คนจานวนมากรู้ได้อย่างดี เพราะฉะนั้น Imaginative อันนี้อาจเป็นภาพถ่ายที่ไม่ต้องคำนึงถึงความสวยงามเพียงแค่นั้น แต่ว่าคำนึงการสื่อสารเรื่องราวด้วย และนี่คงเป็นแก่นหลักของเทรนด์การถ่ายภาพในงานสื่อสารมวลชนในปัจจุบัน คือแต่ก่อนคนจะมองว่าภาพถ่ายต้องสวย องค์ประกอบดี แสงสวยเพียงเท่านี้ แต่ในสมัยปัจจุบันมันเปลี่ยนไป คนในปัจจุบันเริ่มมอง เริ่มเปิดกว้างมากยิ่งขึ้นในการที่จะให้ภาพถ่าย เน้นในเรื่องของสาระแล้วก็เรื่องราวมากกว่าที่จะคำนึงถึงเรื่องของศิลปะเพียงอย่างเดียวที่ไม่ได้แฝงแง่คิดอะไรไว้

 

2. Intelligent ในความหมายของอาจารย์ต่อนักศึกษา

คืออาจารย์ไม่ได้หวังให้นักศึกษาฉลาดมากนะ แต่อยากให้นักศึกษาปรับตัวกับสภาพแวดล้อมได้ คือจบไปแล้วไม่ต้องฉลาดมากแต่อยู่ในสังคมได้และอยู่อย่างมี Social concerned เป็นหลัก คือคนที่จบออกไปเป็นนักสื่อสารมวลชนในปัจจุบันมักจะบอกว่า ฉันอยากเด่น อยากดัง ทำอะไรก็ได้เพื่อให้ตัวเองดัง แต่ว่าสำหรับอาจารย์จะรู้สึกว่าไม่จำเป็น คุณไม่ต้องเด่น ต้องดังก็ได้แค่คุณอยู่รอดได้ในโลกแห่งความเป็นจริงก็พอ

 

3. Social concerned ในกรอบที่อาจารย์อยากให้นักศึกษาเป็นประมาณไหนคะ

concerned แบบที่ใช้ความเป็นนักสื่อสารมวลชน แล้วก็ใช้ความรู้ทางด้านวิชาการทั้งหลาย ทางด้านวิชาชีพทั้งหลายที่เราได้เรียนรู้ในคณะนำไปปรับใช้กับสังคมอย่างถูกต้อง เรานำลักษณะวิชาทั้งหลายที่เราเรียนรู้เอาไปเผยแพร่ หรือเอาไปฝึก หรือเอาไปทำความเข้าใจให้บรรดาคนที่อาจจะรู้น้อยกว่าเราเข้าใจว่าสื่อคืออะไร หรือว่าเท่าทันสื่อมากยิ่งขึ้น

 

4.ในมุมมองของศิลปะกับการเรียนรู้ของนักศึกษา

ต้องเข้าใจคำว่าศิลปะก่อน  คือคำว่าศิลปะในที่นี้มันไม่ใช่ศิลปะในแง่ที่ว่าเรามองภาพแล้วดูสวยงาม ภาพพระอาทิตย์ตกหรือภาพดอกไม้ คืออาจารย์มองในแง่ที่ว่างานศิลปะในที่นี้คือ งานศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะสิ่งเหล่านี้มันคือตัวตนของเรา และสิ่งเหล่านี้เป็นอะไรที่คนเราชอบลืมที่จะนึกว่าเราเรียนศิลปะ แล้วเราก็ม่าสนใจที่จะเรียนประวัติศาสตร์หรืออะไรก็ตามที่เกี่ยวกับทางด้านมานุษยวิทยา ซึ่งจริงๆ แล้วมันเกี่ยวข้องกับตัวเราทั้งนั้นเลย มันเป็นธรรมชาติของตัวเรารอบๆ ตัว แล้วก็ไม่ได้เรียนรู้ พอไม่ได้เรียนรู้ก็ไม่เกิดความลึกซึ้ง พอไม่ลึกซึ้งก็รู้สึกว่าศิลปะไม่สาคัญ แล้วกลายเป็นว่าศิลปะถูกจัดอันดับเป็นวิชาท้ายๆ ที่ควรเรียน

 

5. ในฐานะนักศึกษาต้องมีศิลปะในการใช้ชีวิตไหมคะ

คิดว่าควรมีไหมล่ะ (ยิ้ม) คือคนที่จะมาทำงานแล้วอยู่กับนักศึกษาได้คือคนที่เปิดกว้าง แล้วก็ฟัง คืออาจารย์ให้อิสระกับนักศึกษาค่อนข้างจะมาก มากที่สุดเท่ากรอบมันมี ในมุมนักศึกษาเองก็ต้องเข้าใจกรอบของอาจารย์ด้วยเช่นกัน ทุกสิ่งทุกอย่างต้องอาศัยการประนีประนอม การเข้าอกเข้าใจกันอย่างมากซึ่งถ้าคนที่มาทำงานตรงนี้แล้วไม่เปิดใจให้กว้างและรับฟังให้เยอะ มันจะเป็นสิ่งที่แย่มากเลยมันจะไม่มีการขับเคลื่อนเกิดขึ้น ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่อยากให้นักศึกษาเข้าใจด้วยว่าคณะหรืออาจารย์หรือแม้แต่ใครต่อใครก็ตามหวังดี เพียงแต่ว่ามันก็มีกรอบอะไรบางอย่างที่เราจะต้องเดินในกรอบนั้น ในฐานะที่เราอยู่ในสังคม สังคมมีกฎระเบียบอยู่

 

6.  อาจารย์คาดหวัง หรืออยากให้รูปลักษณ์ใหม่ของวารสารในเชิงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับ  Intelligent Imaginative และ Social concerned  มันเปลี่ยนหรือคาดหวังอะไรในอนาคต

อาจารย์อยากเห็นนักศึกษาทำผลงานที่มีความคิดสร้างสรรค์ คือมีไอเดีย ซึ่งไอเดียในปัจจุบันไม่ได้พูดถึงเรื่องของความสวยความงามเพียงอย่างเดียวแล้ว แต่ไอเดียในปัจจุบันคือความคิดที่ยั่งยืน คือในวงการโฆษณาหรือวงการอะไรต่างๆ ชอบคิดไอเดียแปลกๆใหม่ๆ ของใหม่ของแปลกเขาว่า แต่อาจารย์คิดว่าไอเดียที่มันอยู่ได้นานแล้วก็มีคุณค่ามันจะน่าสนใจมากกว่า

เด็กของเราก็มีความสามารถอยู่แล้ว เกือบจะทุกรุ่นที่สอนๆมาทุกคนจะมี Social concerned คือเด็กในบางมหาวิทยาลัยอาจจะไม่มีเลย อาจารย์คิดว่าเป็นอะไรที่สากลมากอยู่แล้วของธรรมศาสตร์

 

7. Social concerned นี้ อาจารย์คิดว่ามีอิทธิพลหลักมากจากมหาวิทยาลัยด้วยหรือเปล่าคะ ที่กำหนดบางอย่างให้เรารู้สึกว่าเราต้องดูแลกัน

ก็เป็นไปได้ มันอาจจะมาจากหลายสิ่งนะ เพราะว่าเด็กที่จะเลือกมาเรียนธรรมศาสตร์เขาคงเลือกมาแล้วแหละ เขาคงมีสิ่งนี้อยู่ในใจอยู่แล้วถึงเลือกเรียนธรรมศาสตร์ คือมันเหมือนกับว่าเป็นเชิงความคิดในอุดมคตินิดนึง แต่ว่าถึงแม้เด็กที่เข้ามาแล้วไม่ค่อยเรียนหนังสืออะไรก็ตาม แต่ลึกๆ เขาก็ต้องมีส่วนที่ดีบ้าง แล้วพอเข้ามาปุ๊บ คือสังคมมันสิ่งสาคัญอยู่แล้ว สังคมธรรมศาสตร์ก็เป็นสังคมหนึ่งที่หล่อหลอมให้คนเป็นไปในลักษณะนั้นอยู่แล้ว

อีกอย่างหนึ่งอาจารย์รู้สึกว่าที่เรียนๆ ส่วนใหญ่กรอบเยอะทำให้เด็กไม่มีพื้นที่ในการแสดงออกโดยที่ไม่มีกรอบอยู่เลยทำให้เด็กเราไม่มีความครีเอทีฟ คือบางครั้งเหมือนเราให้โจทย์เด็กในการทำงาน โจทย์มันเยอะตีกรอบเขาจำกัดมากจน เขาคิดว่าอาจารย์ให้กรอบมาตามนี้ต้องเดินตามหนึ่ง สอง สาม ไป เขาก็คิดเองไม่ได้ว่าจะตีกรอบตัวเองยังไงเพราะกรอบมันมาอย่างนั้นอยู่

อาจารย์รู้สึกว่าการให้โจทย์แคบไม่ต่างอะไรกับการป้อนใส่ปาก คือคุณควรหาวิธีว่าคุณจะหยิบช้อนโดยวิธีใด คุณจะตักด้วยมือขวาหรือมือซ้ายด้วยตัวของคุณเอง

ถ้าสมมุติว่าเรียนเหมือนเด็กฝรั่ง หรือเด็กญี่ปุ่นอะไรพวกนี้นะ คือเด็กญี่ปุ่นจะสร้างสรรค์มาก ซึ่งส่วนหนึ่งเพราะการเรียนการสอน ส่วนใหญ่เขาจะบอกว่าเด็กเราไม่ค่อยกล้าแสดงความคิดเห็น ทั้งๆที่จริงๆ เรามีของ เราคิดได้  บางทีเกิดจากการกลัวผิด pattern แต่ใน generation เราไม่สมควรจะอยู่ในกรอบแล้ว เพราะว่าอะไรที่อยู่ในกรอบมันทำไปหมดแล้ว

 

8. อาจารย์คิดว่าการเรียนการสอนควรจะปรับเปลี่ยนอะไรอย่างไรที่ทำให้เด็กมีพื้นที่นอกกรอบมากยิ่งขึ้น

คือจริงๆ อาจารย์ก็เห็นว่าหลายวิชาเขาก็พยายามที่จะทำ ณ ตอนนี้อาจจะต้องปรับการเรียนการสอนนิดนึงให้นักเรียนเป็นกลุ่มกลางของความคิด คือรับฟังเขามากขึ้น หลายๆ ครั้งคนที่เป็นอาจารย์ก็อาจจะลืมคิดว่านักศึกษาอาจจะมีคอมเม้นท์อะไรดีๆ ก็ได้ ไม่ได้บอกว่าวิชาอาจารย์ไม่ดี อาจารย์หลายๆ คนก็ใช้วิธีการนี้เหมือนกัน ซึ่งอาจารย์คิดว่ามันก็ได้ผล ใช้วิธีการแบบว่า student center ในการทำงาน และที่สาคัญอีกอย่างคือเน้นในเรื่องของการ debate ให้มากขึ้นเพราะส่วนใหญ่เราจะให้เด็กเข้ามาแล้วก็นั่งฟังเราพูดอะไรประมาณนี้ มองในมุมอาจารย์นะเวลาที่เราโยนประเด็นไปให้พูดนักศึกษาไม่ยอมพูด เป็นธรรมชาติ ของเด็กไทยส่วนใหญ่ และทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ได้ สมมุติว่าเราถกเถียงกันๆใน คลาสสรุปแล้ว “อ้อ ฉันรู้แล้วว่า project นี้ต้องทำยังไง อันนี้ไม่ดีตกไป อันนี้ดีเอาขึ้น” มันก็จะได้เป็นรูปธรรมขึ้นมาจากความคิดของทุกคนในคลาส

 

9. อาจารย์คิดว่ามีวิธีการยังไงคะให้เด็กแบบกล้าตอบคำถาม หรือกล้าที่จะถกเถียงกันกันในกระบวนการเรียน

ที่อาจารย์พยายามอยู่ตอนนี้นะก็คือทำให้เขาเห็นความสาคัญของสิ่งที่เขาตอบ ชื่นชมในสิ่งที่เขาตอบไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ไม่ดีหรือดี คือถ้าเป็นในต่างประเทศมันไม่ต้องมานั่งยิง ไม่ต้องมานั่งจิ้ม ทุกคนจะพูดขึ้นมาเอง บางทีท้วงอาจารย์ด้วยซ้า อาจารย์ไม่ใช่อันนี้ผิด อะไรอย่างนี้ ไอเดียอาจารย์ผิด ซึ่งอาจารย์เขาก็ยอมรับนะ คือมันอะไรที่เรายุติธรรมมากอะไรอย่างนี้ อันนี้ล่ะมั้งที่ทำให้เด็กเราเป็นแบบมีความนอบน้อมถ่อมตน ไม่มีความก้าวร้าวแล้วก็ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น

 

10. มันมีทั้งข้อดีข้อเสียนะคะ

ใช่ อย่างฝรั่งเราจะมีความรู้สึกว่าก้าวร้าวจังอะไรอย่างนี้ ด่าว่ากัน แต่ความจริงคือที่ดีของฝรั่งคือด่ากันแล้วจบ เข้าใจว่าอันนั้นคือเรื่องราวที่เกิดขึ้นในการทำงานหลังจากนั้นคือเป็นเรื่องของอื่นๆ นอกห้องก็ไม่เอามาเกี่ยว นอกห้องก็จับมือกัน อย่ากลัวที่จะใช้จินตนาการอย่ากลัวที่จะแสดงความคิดเห็น เวทีในมหาวิทยาลัยคือเวทีที่ปลอดภัยที่สุดแล้วในการแสดงความคิดเห็นและสร้างสรรค์อะไรสักอย่างขึ้นมา คือเมื่อออกไปเจอโลกภายนอกมันคือเวทีของโลกแห่งความเป็นจริง เพราะฉะนั้นเวลานี้เป็นเวลาที่คุณไม่ต้องกลัวเลยว่าคุณจะโง่ คงไม่มีใครคิดว่าคุณโง่หรอก อาจารย์ทุกคนคิดว่าคุณคือนักศึกษา คุณคือวัยศึกษา อย่ากลัวที่จะถามคำถาม เด็กชอบกลัวไม่กล้าถามกลัวดูโง่ ไม่เป็นไรเพราะเพื่อนอาจจะไม่รู้เหมือนกันก็ได้ใครจะรู้ใช่ไหม  (ยิ้ม) คนที่ตอบคำถามก่อนต่อไปอาจจะเป็นผู้นำก็ได้ใครจะไปรู้  คุณต้องกล้าหาญ

Written by Anchulee.Vis in: Interview |

Faculty of Journalism and Mass Communication, Thammasat University | email: jc.thammasat@gmail.com
StartCounter@15052010

  • Twitter
  • Facebook
  • YouTube