Sep
08
2014
0

นักศึกษาวารสารศาสตร์ฯ อาสาทำหนังสือพิมพ์รายวันในงานประชุมสุขภาวะทางเพศระดับชาติ

895 views

healthysex-newspaper

นักศึกษาคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ทำงานอาสาสมัครในการจัดทำหนังสือพิมพ์รายวันของ “การประชุมระดับชาติเรื่อง สุขภาวะทางเพศ ครั้งที่ ๑ : การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น” ให้ผู้เข้าประชุม ๒,๕๐๐ คนอ่านทุกเช้า หวังมีส่วนร่วมกับผู้ใหญ่ในการคลี่คลายสถานการณ์ “ท้องไม่พร้อม”

ในการประชุมดังกล่าวซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๘ – ๑๐ กันยายน ๒๕๕๗ ที่อิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี จ.นนทบุรี นักศึกษากลุ่มวิชาหนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จำนวน ๑๘ คน และรุ่นพี่ที่จบไปแล้วจำนวน ๒ คน ได้ทำงานอาสาสมัครในการผลิตหนังสือพิมพ์รายวัน “กำแพงเพศ” ให้ผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน ๒,๕๐๐ คนจากทั่วประเทศได้อ่านข่าวที่เกี่ยวกับงานประชุมทุกเช้า

นางสาวพิชญา สิทธิโชควงกมล นักศึกษากลุ่มวิชาหนังสือพิมพ์ฯ ชั้นปีที่ ๔ ในฐานะบรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์ “กำแพงเพศ” กล่าวว่า สถานการณ์การตั้งครรภ์ไม่พร้อมในเยาวชนมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายในสังคมต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไข และการมีส่วนร่วมของเยาวชนก็เป็นสิ่งสำคัญ “ผู้ใหญ่ควรให้เยาวชน รวมทั้งนักศึกษาอย่างพวกเราได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะประเด็นที่เยาวชนกำลังเผชิญปัญหาอยู่ เพราะเยาวชนก็เป็นคนส่วนหนึ่งที่ต้องรับผิดชอบสังคมไปพร้อมๆ กับคนส่วนอื่นๆ”

นางสาวพิชญากล่าวต่อว่า กองบรรณาธิการ “กำแพงเพศ” ส่งผู้สื่อข่าวไปทำข่าวในห้องต่างๆ ที่มีการประชุมอภิปรายเกิดขึ้นในเวลาเดียวกันตลอดทั้งวัน จากนั้นจะบรรณาธิกรณ์และจัดหน้าหนังสือพิมพ์ในตอนค่ำและส่งไปโรงพิมพ์ประมาณเที่ยงคืน เพื่อนำ “กำแพงเพศ” มาติดตั้งที่หน้าห้องประชุมใหญ่ในเช้าวันรุ่งขึ้น นอกจากนี้กองบรรณาธิการยังจัดรายการเล่าข่าว “กำแพงเพศ” เวลา ๘.๓๐ น. โดยมี นางสาวแพรว เรืองสวรรค์ และนางสาวปิยวรรณ ลาภประเสริฐกุล นำทีมผู้สื่อข่าวขึ้นเวทีห้องประชุมใหญ่เพื่อรายงานเหตุการณ์สำคัญๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ในห้องประชุมต่างๆ ให้ผู้เข้าประชุมได้รับทราบ ไม่เพียงแต่การทำกิจกรรมด้านข่าว นักศึกษากลุ่มวิชาหนังสือพิมพ์ฯ กลุ่มนี้ยังได้ทำหน้าที่เป็นวิทยากรในงานประชุมด้วย ได้แก่ ห้องพัฒนาทักษะในหัวข้อ “อินโฟกราฟฟิกเบื้องต้น สำหรับการสื่อสารเรื่องเพศ” ดำเนินการโดย นายอภิชาต วัฒนวรเศรษฐ์ นาวสาวนวพร ญาณสิทธิ์ และนายอติชน ชาญชัยวุฒิกุล เพื่อแนะนำหลักการสำคัญในการทำอินโฟกราฟฟิก ห้องเวทีเยาวชนในหัวข้อ “เรียนให้สนุก ทำกิจกรรมให้เก่ง” โดยนางสาวพิชญา สิทธิโชควงกมล และนางสาวกันยพัชร รุ่งเรืองศิลาพันธ์ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเรียนหนังสือกับการทำกิจกรรม และหัวข้อ “นักลงทุนรุ่นเยาว์ Young Entrepreneur” โดย นางสาวอคิราภ์ วีระนิตินันท์ นางสาววรัญญา โภคะกุล และนางสาวสรุตา สิริศรีสัมพันธ์ เพื่อจุดประกายเยาวชนในการทำธุรกิจขนาดเล็ก

การประชุมระดับชาติเรื่อง สุขภาวะทางเพศ ครั้งที่ ๑ : การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ครั้งนี้จัดโดยกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) องค์กร UNFPA และมูลนิธิแพธทูเฮลท์

Feb
10
2014
0

โครงการวารสารศาสตร์ฯ ศึกษาชนบท ปีที่ ๙

2,368 views

โครงการวารสารศาสตร์ฯ ศึกษาชนบท เป็นโครงการของคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีจุดประสงค์เพื่อให้นักศึกษาและอาจารย์ได้เดินทางไปศึกษาวิถีชีวิตของชนบท และส่งเสริมให้ได้นำความรู้ไปผลิตสื่อชุมชนร่วมกับชาวบ้าน โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนค่าธรรมเนียมการศึกษาเพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำหรับโครงการฯ ปี ๒๕๕๗ ซึ่งเป็นปีที่ ๙ นี้ เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม -๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ สมาชิกผู้เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน ๒๔ คนได้เดินทางไปที่บ้านดอนชัย หมู่ ๑ และดอนชัยสักทอง หมู่ ๙ ตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นชุมชนที่มีความโดดเด่นในการอนุรักษ์ป่าและระบบนิเวศของแม่น้ำยม นอกจากนี้ยังเป็นชุมชนที่รวมตัวกันคัดค้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น และเขื่อนยมบน ยมล่าง มากว่าสองทศวรรษ เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้จริง อีกทั้งยังทำลายทรัพยากรธรรมชาติและวิถีชีวิตของชุมชนที่มีอายุกว่า ๒๐๐ ปีให้จมอยู่ใต้น้ำอีกด้วย

กิจกรรมของโครงการฯ นอกจากการบรรยายโดยวิทยากรที่เป็นชาวบ้านแล้ว ยังได้ทำกิจกรรมร่วมกับชาวบ้านด้วย เช่น การเดินป่าศึกษาธรรมชาติ การศึกษาระบบนิเวศน์ลำน้ำยม และทำกิจกรรมตามกิจวัตรประจำวันของชาวบ้าน เช่น เลี้ยงหมู ต้มเหล้า เก็บของป่า ฯลฯ สื่อชุมชนที่สมาชิกของโครงการฯ ร่วมกับแกนนำชุมชน ร่วมกันพัฒนาขึ้นมามี ๓ ประเภท ได้แก่

(๑) ภาพยนตร์สารคดีสั้น “บ้านเฮาเฮาก็ฮัก” ความยาว ๘ นาที ๔๖ วินาที เพื่อส่งเสริมให้วัยรุ่นในเขตเมือง (กลุ่มเป้าหมายหลัก) เข้าใจถึงเหตุผลหลักๆ ที่ชาวบ้านรวมตัวกันเพื่อคัดค้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นและเขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง

(๒) ภาพยนตร์โฆษณาเรื่อง “ใต้เขื่อนมีชีวิต” ความยาว ๓๖ วินาที เพื่อส่งเสริมให้วัยรุ่นในเขตเมืองได้เข้าใจผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านหากมีการสร้างเขื่อน

(๓) การทำโปสเตอร์อินโฟกราฟฟิกชุด “ทำไมชาวสะเอียบไม่เอาเขื่อน” จำนวน ๕ แผ่น เพื่อส่งเสริมให้วัยรุ่นในเขตเมืองได้เข้าใจเหตุผลอันมากมายของชาวบ้านที่รวมตัวกันคัดค้านเขื่อน และข้อเสนอแนะของชาวบ้านแทนการสร้างเขื่อน

(Read More…)

Faculty of Journalism and Mass Communication, Thammasat University | email: jc.thammasat@gmail.com
StartCounter@15052010

  • Twitter
  • Facebook
  • YouTube