Apr
11
2014

ปิยะ พงศาพิทักษ์สันติ : เปิดบ้านซากุระ…โลกของสื่อและชีวิตแบบนางาซากิ

1,438 views

“แทบไม่น่าเชื่อว่าชายที่อยู่ตรงหน้าจะเป็นคนไทยที่สามารถพูดภาษาญี่ปุ่นได้ชัดถ้อยชัดคำ น้ำเสียงในบางครั้งถอดบุคลิกจากคนญี่ปุ่น…แทบไม่น่าเชื่อว่าชายผู้นี้เป็นศิษย์เก่าจากรั้ววารสารฯ ซึ่งปัจจุบันเป็นอาจารย์ด้านสื่อสารมวลชนอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น…และแทบไม่น่าเชื่อหากจำกันได้โฆษณาน้ำดื่มชาเขียวที่หนอน 2 พ่อลูกเดินไต่อยู่บนต้นชาเขียวและภาพยนตร์คู่กรรม ภาคล่าสุด จะเป็นที่ชื่นชอบกันมากสำหรับนักศึกษาญี่ปุ่น JCTeam@yourservice ได้รับโอกาสพิเศษสัมภาษณ์ ดร.ปิยะ พงศาพิทักษ์สันติ อาจารย์ประจำสาขาสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยนางาซากิ ที่จะมาเปิดมุมมองบางแง่มุมที่คนไทยหลายๆ คน ไม่เคยรู้มาก่อน”

Piya_Nagasaki

> จุดเริ่มต้นที่วารสารฯ
– อาจารย์จบจากวารสารฯ ใช่ไหมครับ ?
“ใช่ครับ ผมเล่าเลยนะครับ ผมจบเอกโฆษณาครับ หลังจากนั้นไปทำเอเยนซีโฆษณาอยู่ 3 ปี จากนั้นได้ทุนรัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่ OSAKA University และระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัย KYOTO”
– ทำเอเยนซีโฆษณาทำเกี่ยวกับอะไรบ้างครับ ?
“ผมทำงานที่แรกที่ Leo Burnett เน้นการทำ EVENT ของบริษัท Procter & Gamble (P&G) เช่น ยาสระผม Rejoice ถ้ายังจำกันได้คอนเซ็ปต์ของยาสระผมยี่ห้อนี่คือ “ท้าพิสูจน์ผมคุณจะนุ่มสวยภายใน” อะไรประมาณนั้นครับ ผมจะจัดกิจกรรมโดยไปตามต่างจังหวัดแล้วก็ทดลองสระจริง ก่อนนำกิจกรรมนั้นมาออกโทรทัศน์อีกที
-ทำไมถึงสนใจงานโฆษณาล่ะครับ ? “คือช่วงที่ผมเรียนบังเอิญเป็นช่วงเศรษฐกิจดี มีโฆษณาที่สนุกๆ เต็มไปหมดมีที่สนุกๆ และชอบหลายตัว จึงสนใจในเรื่องโฆษณา ผมสนใจในเรื่องวิธีการทำ วิธีการผลิตงานโฆษณา

> ก้าวต่อไปที่ญี่ปุ่น
– แล้วทำไมถึงได้มีโอกาสไปศึกษาต่อที่ประเทศญี่ปุ่นครับ “คือ พอดีผมได้รับทุนรัฐบาลญี่ปุ่นไปเป็นนักเรียนวิจัยอยู่ประมาณปีครึ่งครับ เพื่อเตรียมตัวการเรียนภาษาและวิจัย”
– บรรยากาศสนุกไหมครับ ที่ญี่ปุ่น “ โอ้..คือคิดถึงบ้าน Homesick เลยครับ (หัวเราะ) แต่ก็ปรับตัวได้ ผมไปอยู่ที่นั่นต้องปรับตัว เพราะผมต้องอยู่คนเดียว ไม่ได้มีครอบครัวอุปถัมถ์ (Host Family )
– อุปสรรคด้านภาษาต้องปรับตัวไหมครับ “สำหรับผมนะครับ ผมคิดว่าเรื่องสำเนียงอาจเป็นปัญหาอยู่ เพราะมันเทียบไม่ได้กับคนญี่ปุ่นโดยกำเนิด (Native Speaker) เราอยู่คนละบริบททางวัฒนธรรมกัน แต่ก็ไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับการเรียนการสอนที่นี่เพราะจะขึ้นอยู่กับอาจารย์ผู้สอนที่อนุโลมให้เหมาะสมกับผู้เรียนซึ่งเป็นนักศึกษาต่างชาติ”

> ชีวิตและสื่อในแดนซากุระ
– ลองมองย้อนกลับมาที่เมืองไทยนะครับ…อาจารย์มีมุมมองอย่างไรเกี่ยวกับงานสื่อในบ้านเราบ้างครับ?
“ อืมม (ทำท่าคิด) ผมขอมองในมุมของคนที่เคยทำงานโฆษณานะครับ ผมคิดว่าโฆษณาเป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสารของมนุษย์ครับ เมื่อเทียบงานโฆษณาไทยกับงานโฆษณาญี่ปุ่น ผมพูดได้เลยว่างานของไทยสนุกกว่า ผมชอบยกตัวอย่างโฆษณาของ unif ชาเชียว ที่มีคำบรรยายเป็นภาษาญี่ปุ่นให้นักศึกษาที่นั่นได้ดูซึ่งเด็กๆ นักศึกษาที่นั่นชอบมาก พวกเขาจะตื่นเต้นและสนุก แม้แต่ภาพยนตร์คู่กรรรมภาคล่าสุด (ณเดชน์ คูกิมิยะ ริชชี่ อรเณศ ดีคาบาเลส) ผมก็เคยนำหนังตัวอย่าง (Trailer) ไปฉายให้ดู นักศึกษาก็ชอบกันใหญ่เพราะมีเพลงประกอบเป็นภาษาญี่ปุ่น”

– แล้วงานโฆษณาของญี่ปุ่นเป็นอย่างไรครับ?
“ผมมองว่าไม่น่าประทับใจเท่าโฆษณาไทย เพราะคนญี่ปุ่นมองภาพลักษณ์ขององค์กร( Coporate Image) เป็นหลักมากกว่า ตัวโฆษณาจึงมองไปที่องค์กรที่ทำ เช่น เป็นของ บริษัท KAO, เบียร์ ASAHI,เบียร์ Suntori จะไม่ค่อยพูดถึงตัวของผลิตภัณฑ์ งานโฆษณาจึงเป็นเรื่องของการสร้างความน่าเชื่อถือ สร้าง ภาพลักษณ์ (IMAGE) มากกว่า ที่ผมสังเกตและเห็นเยอะมากคือการเอาตัวดารา นักร้อง นักกีฬา หรือคนดังมาโฆษณาเพื่อสื่อให้เห็นว่าใช้สินค้านั้น จากนั้นแล้วก็จบ มันจึงธรรมดาๆ มาก”

– คือจะสื่อน้อยๆ ไม่ขายอย่างเดียว (Hard Sale) ?
“ถูกต้องเลยครับ..งานโฆษณาของญี่ปุ่นมักเป็นเรื่องที่เข้าใจยากของคนต่างชาติ คนญี่ปุ่นมีอุปนิสัยอย่างหนึ่ง คือสื่อสารทางอ้อมไม่พูดตรงๆ การพูดตรงๆ จะเป็นการเสียมารยาท ฉะนั้นเค้าจะพูดอ้อมๆ ดังนั้นงานโฆษณาที่นี่จึงเน้นอารมณ์ความรู้สึก สร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อสินค้า”

– งานสื่อที่นี่จึงสะท้อนบุคลิกและอุปนิสัยใจคอของคนญี่ปุ่นได้อย่างเห็นได้ชัด…
”จะพูดอย่างนั้นก็ได้นะครับ มันสะท้อนให้เห็นถึงมารยาททางสังคมของญี่ปุ่น ผมคิดว่าคนญี่ปุ่นมีความเป็นกลุ่มสูง มีพื้นฐานที่คำนึงถึงคนที่อยู่รอบข้างมากกว่าตัวเอง เช่น การคุยโทรศัพท์ในรถไฟต้องระมัดระวังถึงคนรอบข้าง เช่น บางคนต้องการความเงียบหรือกำลังพักผ่อนอยู่ ซึ่งพื้นฐานหลักๆ จะต้องคำนึงถึงคนรอบข้าง และต้องรู้จักการวางแผน

– เมื่อพูดถึงอุตสาหกรรมบันเทิงของญี่ปุ่นคนทั่วโลกจะนึกถึงการ์ตูน เป็นอันดับแรก อาจารย์มองว่าอะไรเป็นปัจจัยของความสำเร็จในเรื่องการ์ตูนบ้างครับ
“ผมมองว่าญี่ปุ่นมีความเป็นเอกภาพ (Unique) สูงมาก งานที่ทำก็มีความละเอียดและสนุก งาน Animation ของที่นี่พัฒนามาจากมังงะ ( Manga) ก็เลยทำให้เราเข้าใจวัฒนธรรม ทั้งเรื่องความเป็นอยู่ อาหารการกิน สภาพสังคมได้ดี อย่างความสำเร็จของ Gibli (จิบะลิ) คนญี่ปุ่นเขายกย่องและชื่นชมกันมาก จิบะลิสะท้อนความพยายามของคนทำเพราะไม่ง่ายเลยที่จะทำให้มันดัง และงานแอนิเมชั่นที่นี่จะใช้มือเขียน จึงมีความเป็นมนุษย์และให้ความรู้สึกมากกว่าซึ่งแตกต่างจากประเทศในแถบตะวันตกที่เราเคยเห็น”

– แล้วงาน Animation ของไทยล่ะครับ..
“ผมคิดว่าช่วงระยะเวลาที่เกิดขึ้นมาของงาน Animation ระหว่างไทย – ญี่ปุ่น มันต่างกัน มันคงจะดีเท่าของเขาไม่ได้ แต่ผมก็เห็นความพยายามในการนำเอาเรื่องวัฒนธรรมไทยเข้ามาใช้ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีมากๆ”
อยู่ที่ญี่ปุ่นอาจารย์ใช้ชีวิตอย่างไรบ้างครับ
“ก็ออกกำลังกาย และดูภาพยนตร์เป็นหลักครับ”

– พูดถึงภาพยนตร์…ภาพยนตร์ญี่ปุ่นเมื่อเทียบกับภาพยนตร์จากฝั่งอเมริกา สนุกไหมครับ?
(หัวเราะ) คือ ผมว่าภาพยนตร์ญี่ปุ่นไม่ค่อยมีความเป็นสากลเท่าไร ดูแล้วต้องคิดและตีความให้ลึกมีความเป็นวัฒนธรรมสูง อย่างที่เราเห็นกันภาพยนตร์จากฝั่งอเมริกาจะมีการวางโครงเรื่องไว้แล้ว (Plot)
แล้วเคยดูภาพยนตร์ญี่ปุ่น เรื่องอะไรบ้างล่ะ (หัวเราะ) อ.ปิยะ ย้อนกลับถาม JCTeam
“เคยดู ALWAYS Sunset on Third Street (ถนนสายนี้หัวใจไม่เคยลืม) ครับ (หัวเราะ)”
“อ๋อ…อันนั้นดูง่ายไป อย่างที่ผมพูดคนญี่ปุ่นจะไม่ค่อยพูดอะไรเยอะๆ หรือสื่ออะไรมากๆ เคยดู DEPATURE (ความสุขนั้นนิรันดร) ไหมครับ?”อ.ปิยะถาม
“เคยครับ ได้รางวัลภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมของออสการ์” JCTeam ตอบ
“ดีครับ..ถ้าเราสังเกตภาพยนตร์เรื่องนี้ก็จะไม่สื่อ หรือพูดอะไรตรงๆ แต่จะถ่ายทอดผ่านสีหน้า อารมณ์ ท่าทาง บทจะไม่พูดอะไรมาก (Non – verbal Communication) ซึ่งดูยากมากสำหรับคนทั่วไป”

– ถ้าจะแนะนำภาพยนตร์ดีๆ ล่าสุด ที่ดูไปล่ะครับ
“ผมเพิ่งดู Like father Like son (เหมือนพ่อ…เหมือนลูก) เป็นเรื่องเกี่ยวกับ2 ครอบครัวที่ลูกถูกสลับกันที่โรงพยาบาล ต่อมารู้ภายหลังทำให้เค้าต้องพยายามเอาลูกกลับกัน แต่ท้ายที่สุดก็เอาลูกที่ไม่ใช่ลูกของตัวเองกลับมาเลี้ยงเหมือนเดิม หนังพยายามเล่าถึง สังคมสมัยใหม่ความเป็นครอบครัวไม่จำเป็นต้องผูกพันกันทางสายเลือด ผมคิดว่าน่าจะดูกันได้ทุกคน”

> สอนอย่างสนุกที่ญี่ปุ่น ฉบับ อ.ปิยะ

– กลับมาที่งานสอนที่ มหาวิทยาลัย Nagasaki ต้องเรียกชื่ออย่างไรถึงจะถูกครับ
“คือ มหาวิทยาลัยที่ผมสอนชื่อจะอ่านเป็นภาษาอังกฤษว่า University of Nagasaki แปลเป็นไทยก็คือมหาวิทยาลัยประจำจังหวัดนางาซากิ ครับ แต่ถ้าเป็น Nagasaki University จะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งชาติครับ ที่ University of Nagasaki มี 2 วิทยาเขตนะครับ คือ ซีโบย (Seibold Campus) กับ ซาเซโบ (Sasebo Campus) ส่วนผมอยู่ที่วิทยาเขต Seibold อยู่ในคณะ Global Communication

– สอนวิชาด้านใดบ้างครับ แล้วอาจารย์มองการเรียนการสอนสำหรับเด็กนักศึกษาไทย และญี่ปุ่นเป็นอย่างไรบ้างครับ ?
“ผมสอน Marketing Communication การสื่อสารการตลาด , โฆษณาAdvertisement, International Communication การสื่อสารระหว่างประเทศ ถ้าให้มองเรื่องการเรียนการสอนระหว่างเด็กไทยกับเด็กญี่ปุ่นผมคิดว่านักศึกษาไทยยังขาดเรื่องระเบียบวินัยในการตรงต่อเวลาซึ่งการจะอยู่ในสังคมญี่ปุ่นการตรงต่อเวลาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ส่วนเทคนิคการสอนสำหรับผมด้วยความที่ผมสอนโฆษณาผมจะให้ดูตัวอย่างก่อนแล้วให้คิด เช่น ยกตัวอย่างโฆษณาประมาณ 5 ชิ้น ให้ดูแล้วถามสิ่งที่แตกต่างว่ามีประเด็นใดบ้าง? แล้วสรุปมาเป็นประเด็นว่าเราจะบรรยายเรื่องอะไรนักศึกษาเก็จะเกิดการค้นพบสิ่งใหม่ในแต่ละครั้งที่เรียนกับเรา เช่น งานโฆษณาจะมีความแตกต่างกันในการสร้างแบรนด์ในแต่ละชิ้น

– ในฐานะที่อาจารย์ศึกษาต่อต่างประเทศ และใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในประเทศญี่ปุ่น อยากจะฝากอะไรบ้างไหมครับสำหรับนักศึกษาไทยที่ต้องเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศหรืออาจมีโอกาสได้เข้าโครงการแลกเปลี่ยนต่างประเทศ?
“ผมมองว่าการศึกษาต่อต่างประเทศถ้ามีโอกาสไม่ว่าระยะสั้นหรือระยะยาวเป็นเรื่องที่ดี ทำให้เราเป็นผู้ใหญ่ขึ้นเข้าใจตัวเองมากขึ้น รู้ว่าตัวเองอยากทำอะไร ไม่จำเป็นต้องเป็นที่ประเทศญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนก็ตาม ถ้าเราได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ทำให้เราได้ทบทวนตัวเองมากขึ้นอาจจะเป็น 3 เดือน 6 เดือน หรือ1 ปี” อ.ปิยะกล่าวทิ้งท้าย

ก่อนจะจากกัน อ.ปิยะ ยังได้มีโอกาสร่วมพบปะ 2 นักศึกษาจากคณะวารสารฯ น้องเป้ กฤตเมธ และน้องแฟ้ อาทิมา ที่มีโอกาสเดินทางไปแลกเปลี่ยนต่างประเทศที่ University of Nagasaki เป็นระยะเวลา 4 เดือน หากช่วงระยะเวลาที่เดินทางโชคยังดีดอกซากุระกำลังเริ่มบานรอคอยอาคันตุกะผู้มาเริ่มต้นใช้ชีวิตนักศึกษาแลกเปลี่ยนและจะโชคดียิ่งกว่าหากน้องๆ ทั้ง 2 นำความรู้ที่ได้รับมาปรับปรุงเพิ่มพูนประยุกต์ใช้กับการเรียนของตนเองได้เหมาะสมอีกไม่ช้าเกินรอ JCTeam@yrservice จะรีบคว้าตัวทั้งเป้และแฟ้มาพูดคุยถึงประสบการณ์การใช้ชีวิตแลกเปลี่ยนในเมืองนางาซากิแต่ที่แน่ๆ น้องทั้ง 2 คน จะรู้ตัวไหมที่ทำให้ใครหลายคนอิจฉาอยากจะมีโอกาสหลบอากาศที่แสนจะร้อนถึงร้อนที่สุดในเมืองไทยไปสัมผัสความหนาวของประเทศญี่ปุ่นอย่างแน่นอน.

คู่กรรม Ost Japanese

YouTube Preview Image

Comments

comments

Written by Anchulee.Vis in: Interview |

Faculty of Journalism and Mass Communication, Thammasat University | email: jc.thammasat@gmail.com
StartCounter@15052010

  • Twitter
  • Facebook
  • YouTube