Apr
08
2014

เสวนา “เมื่อสื่อจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (ASEAN Media Move)”

677 views

งานเสวนาเรื่อง
“เมื่อสื่อจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (ASEAN Media Move)”

จัดโดย คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ณ ชั้น 4 อาคารธรรมศาสตร์ 60 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
วันพฤหัสบดีที่ 27 มีนาคม 2557 เวลา 13.30-15.30 น.

เมื่อวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดงานเสวนา ”เมื่อสื่อจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (ASEAN Media Move)” ขึ้น เพื่อส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทและการปรับตัวของสื่อมวลชน ในการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 โดยการเสวนาครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากวิทยากร 3 ท่าน ได้แก่ อาจารย์มนต์ศักดิ์ ชัยวีระเดช หัวหน้าโครงการ ASEAN Media Move คุณตะวัน หวังเจริญวงศ์ ผู้สื่อข่าวโต๊ะข่าวประชาคมอาเซียน หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ และอาจารย์ ดร. กันยิกา ชอว์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสื่อและการสื่อสารอาเซียน (AMSAR)

 AseanMediaMove-02

เริ่มที่อาจารย์มนต์ศักดิ์ ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการก่อตั้งโครงการ ASEAN Media Move เพื่อติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับความร่วมมือด้านสื่อมวลชนอาเซียนว่า ในโลกที่เชื่อมต่อกันง่ายดาย ประเด็นเรื่องสื่อสารมวลชนนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อภูมิภาค แต่ทว่าการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนมักจะเน้นความสำคัญของมิติทางเศรษฐกิจเป็นพิเศษ ทำให้ยังไม่ค่อยมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสื่อสารมวลชน ซึ่งเป็นกลไกหลักในการสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจระหว่างกันให้กับประชาชนของแต่ละประเทศ ขณะเดียวกัน อาจารย์ได้ทำวิจัยเกี่ยวกับบทบาทของ facebook ในฐานะสื่อกลางของอาเซียน ที่น่ากังวลก็คือ ข้อค้นพบชี้ว่า ในขณะที่ประชาคมอาเซียนจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า แต่ประเด็นด้านสังคมวัฒนธรรมยังคงเป็นเรื่องที่อ่อนไหว และมักไม่ถูกพูดถึงผ่านสื่อ ซึ่งสะท้อนความไม่ไว้วางใจระหว่างชาติอาเซียนด้วยกันเองอยู่มาก

อาจารย์กันยิกาเห็นตรงกัน และชี้ให้เห็นว่า ในแง่สื่อมวลชนไทยนั้น ค่อนข้างจะกระตือร้นร้นกับประเด็นเรื่องการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนอย่างมาก แต่สื่อในประเทศอาเซียนกลับไม่ค่อยให้ความสำคัญกับประชาคมอาเซียนนัก ไม่ว่าจะเป็นในกลุ่มประเทศ CLMV หรือในประเทศภาคพื้นสมุทรอย่างสิงคโปร์ อาจารย์เห็นว่า ความก้าวหน้าของสื่อมวลชนอาเซียนยังเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา เพราะในปัจจุบัน สื่อมวลชนหลายประเทศยังไม่มีองค์ความรู้ที่เพียงพอ ทั้งยังไม่มีเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารได้อย่างแท้จริง ทำนองเดียวกัน อาจารย์เห็นว่า ความร่วมมือด้านสื่อมวลชนในอาเซียนอาจเป็นเรื่องยาก เพราะยังมีประเด็นอ่อนไหวอยู่มากมาย แต่นี่ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะแม้กระทั่งสหภาพยุโรป ก็ไม่ได้มีการรวมตัวหรือร่วมมือด้านสื่ออย่างเสรีสุดขีด หรืออีกทางหนึ่ง ก็ยังมีประเด็นทางการเมืองความมั่นคงที่พูดถึงไม่ค่อยได้อยู่เช่นกัน ฉะนั้น สื่อมวลชนอาเซียนจึงต้องค่อย ๆ รวมตัวกัน มองโอกาสของการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน ขณะเดียวกัน อาจารย์เสนอเพิ่มเติมว่า เมื่อพูดถึงสื่อ ควรมองไปที่สื่ออื่น ๆ เช่น ภาพยนตร์ หรือโฆษณา ซึ่งอาจจะมีพัฒนาการของความร่วมมือมากกว่าสื่อมวลชนที่เน้นทำข่าวเป็นหลัก อย่างไรก็ดี สื่อไทยในภาพรวมก็น่าจะมีบทบาทนำในการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านสื่อของอาเซียน เพราะไทยมีศักยภาพสูงกว่าชาติอื่น ๆ ในหลายด้านประเด็นเรื่องการเมืองและวัฒนธรรมกลับเป็นเรื่องอ่อนไหวที่ไม่ค่อยถูกพูดถึง หรือพูดถึงในสื่อมวลชนไม่ได้ ซึ่งน่าจะเป็นอุปสรรคต่อการรวมตัวกันในอนาคต นอกจากนี้ อาจารย์ยังเห็นว่า สื่อมวลชนอาเซียนน่าจะมีบทบาทที่แข็งขันในการให้ความรู้กับประชาชน นำเสนอประเด็นร่วมของภูมิภาค และสนับสนุนให้เกิดการยอมรับในความแตกต่างหลากหลายระหว่างกันให้มากขึ้น

สุดท้าย คุณตะวันเล่าประสบการณ์การทำข่าวให้ฟังว่า แต่ก่อน ข่าวสารเกี่ยวกับอาเซียนมักเป็นเพียงข่าวการเมืองเป็นหลัก กระแสประชาคมอาเซียนเพิ่งเติบโตขึ้นราวปี 2554-2555 ซึ่งทำให้สื่อมวลชนหันมาสนใจอาเซียนในเนื้อหาที่หลากหลายมากขึ้น อย่งาไรก็ดี เนื้อหาที่จะได้รับการนำเสนอเป็นหลักนั้น มักขึ้นอยู่กับแหล่งข่าวของสื่อเองว่าจะเสนอหรือเน้นข่าวสารด้านใดเป็นหลัก ในประเด็นเรื่องความร่วมมือของสื่อมวลชนนั้น เขาเห็นว่า อาเซียนมีความร่วมมือกันอยู่โดยตลอด แม้จะไม่ได้มากมายนัก ปัญหาสำคัญอยู่ที่ทัศนคติเกี่ยวกับการทำข่าวที่แตกต่างกัน โดยสื่อไทยค่อนข้างมีทัศนะที่เปิดกว้างกว่าหลาย ๆ ชาติ แต่สื่อมวลชนไทยหลายแห่งก็มีบทบาทสำคัญเช่นกัน ในการผลักดันให้เกิดการตื่นตัวและพัฒนาของสื่อมวลชนอย่างชาติ อย่างเช่น สื่อมวลชนในพม่า เป็นต้น

ที่มา: งานเสวนาเรื่อง “เมื่อสื่อจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (ASEAN Media Move)” by Kinka

AseanMediaMove-01

Comments

comments

Written by Anchulee.Vis in: กิจกรรม |

Faculty of Journalism and Mass Communication, Thammasat University | email: jc.thammasat@gmail.com
StartCounter@15052010

  • Twitter
  • Facebook
  • YouTube