Jan
26
2014

อ.กุลนารี เสือโรจน์ รางวัลนักวิจัยรุ่นใหม่ดีเด่นระดับคณะของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี พ.ศ.2556

1,224 views

บทสัมภาษณ์ อ.กุลนารี  เสือโรจน์
ได้รับรางวัลนักวิจัยรุ่นใหม่ดีเด่นระดับคณะของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี พ.ศ.2556
โดย สำนักงานบริหารการวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

TUresearch2556-03

มีข่าวดีมาให้ชาวเจซีร่วมแสดงความยินดีกับ อ.บ๊วย กุลนารี เสือโรจน์ ที่ได้รับรางวัลนักวิจัยรุ่นใหม่ดีเด่นระดับคณะ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี พ.ศ.2556 ซึ่งจัดโดยสำนักงานบริหารการวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเพื่อนๆก็คงอยากจะทราบกันใช่ไหมคะว่างานวิจัยที่ได้รางวัลนี้เกี่ยวกับประเด็นปัญหาอะไรรวมถึงมีความเป็นมาอย่างไร? ติดตามอ่านได้กับบทสัมภาษณ์ที่ทีมเจซีพีอาร์นำมาฝากกันได้เลย

  • อยากทราบว่าหัวข้องานวิจัยของอาจารย์ที่ได้รับรางวัลคือหัวข้อเรื่องอะไรคะ

เรื่อง พฤติกรรมการสื่อสารของวัยรุ่นในพื้นที่สาธารณะบนเว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์เฟซบุ๊กค่ะ แต่ความเห็นส่วนตัวเราประเมินงานของตัวเอง คิดว่ายังมีอีกหลายจุดที่ต้องพัฒนาแต่รางวัลนี้เป็นรางวัลสำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่ที่อายุไม่เกิน 35 ปี กำลังอยู่ในช่วงเรียนรู้เพื่อพัฒนาตัวเอง ครูคิดว่าตัวรางวัลคงไม่ได้พิจารณาเฉพาะชิ้นงานวิจัยนี้อย่างเดียวเพราะเค้าให้ส่งประวัติการทำงานไปให้พิจารณาร่วมด้วย น่าจะเป็นภาพรวมของการมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่เกี่ยวกับงานวิจัยประกอบกัน

  • ทำไมอาจารย์ถึงได้เลือกหัวข้อนี้มาทำการศึกษาค้นคว้าและต่อยอดจนกลายเป็นงานวิจัยชิ้นนี้คะ

เริ่มจากการสังเกตสื่อใกล้ตัวอย่างเฟซบุ๊กซึ่งเป็นสื่อออนไลน์ที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นหลังจากนั้นก็ไปหาหนังสือเกี่ยวกับจิตวิทยาวัยรุ่นมาอ่านเพิ่ม ก็พบว่าวัยรุ่นในแต่ละช่วงวัย ทั้งวัยรุ่นตอนต้น ตอนกลาง ตอนปลายมีความต้องการพื้นฐานที่แตกต่างกันออกไปซึ่งคิดว่ามันน่าจะส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้งานสื่อต่างๆรวมถึงสื่อประเภทเฟซบุ๊กด้วย ก็เลยอยากรู้ว่าต่างกันอย่างไร

ประกอบกับการสังเกตการใช้งานเฟซบุ๊กเบื้องต้นพบว่าวัยรุ่นบางกลุ่มใช้เฟซบุ๊กเพื่อขับเคลื่อนหรือแก้ไขปัญหาในโลกจริงเช่น ระดมความคิดทางการเมือง หรือระดมความคิดช่วยเหลือสังคมด้านต่างๆ ก็เลยคิดว่าเฟซบุ๊กมันน่าจะมีฟังก์ชั่นมากกว่าของเล่นเพื่อความสนุกสนาน ก็เลยตั้งคำถามนำวิจัยว่าวัยรุ่นใช้เฟซบุ๊กในฐานะพื้นที่สาธารณะเพื่อทำอะไรและเพราะอะไร วัยรุ่นเป็นวัยที่มีพลังมาก ถ้าเราเข้าใจความคิด เข้าใจพฤติกรรม รวมไปถึงพฤติกรรมการใช้สื่อของเขา ก็น่าจะทำให้เกิดการขับเคลื่อนสิ่งที่เป็นประโยชน์ได้มากมายจากคนกลุ่มนี้

  • อาจารย์ คิดว่างานวิจัยชิ้นนี้จะให้ประโยชน์แก่ ตัวผู้อ่านและสังคมในแง่ใดบ้างคะ

ประการแรกครูคิดว่า ทำให้เกิดความเข้าใจพฤติกรรมการสื่อสารของวัยรุ่นที่กระทำผ่านเว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์เฟซบุ๊ก ประการที่สองน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมและส่งผลให้เกิดการพัฒนาระบบเทคโนโลยีการสื่อสารที่เหมาะสมกับกลุ่มวัยรุ่น ประการที่สางานชิ้นนี้น่าจะจุดประกายให้เกิดการวิจัยต่อยอดในประเด็นเครือข่ายทางสังคมออนไลน์ประเภทอื่นๆต่อไป ประการที่สี่งานชิ้นนี้สามารถนำผลการศึกษาไปใช้ในการเรียนการสอนเรื่องสื่อใหม่ซึ่งจะกลายเป็นหัวข้อสำคัญในการศึกษาด้านการสื่อสารมวลชนในอนาคตได้ และประการสุดท้ายคือ เติมเต็มองค์ความรู้ทางวิชาการและสามารถนำผลการศึกษาไปใช้ในการเรียนการสอนเรื่องสื่อใหม่ได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

  • อยากทราบว่าความท้าทายจากการทำงานวิจัยในแต่ละชิ้นคืออะไร

คิดว่าความท้าทายของงานวิจัยคือ กระบวนการในการหาคำตอบในสิ่งที่เราตั้งข้อสงสัยไว้ ทุกครั้งที่ครูทำวิจัยคือครูมีความสงสัยอยากรู้ อยากได้คำตอบบางอย่าง ทุกครั้งเมื่อครูทำวิจัยเสร็จประโยชน์ที่ได้คือ ครูได้ความรู้ ได้ข้อมูลใหม่ๆเสมอ ได้ฝึกฝนการคิดอย่างเป็นระบบ และที่สำคัญเราได้แชร์ ได้แลกเปลี่ยนความรู้นั้นกับคนอื่นด้วย

  • ประเด็นปัญหาเรื่องใดในปัจจุบันที่อาจารย์สนใจอยากจะนำมาศึกษาในงานวิจัยชิ้นต่อไป

ตอนนี้กำลังจะทำวิจัยเรื่อง การวิจัยถอดบทเรียนหลักการเขียนบทสื่อคำบรรยายเป็นเสียงรายการอาหารทางโทรทัศน์เพื่อคนพิการทางสายตา เพราะครูได้มีโอกาสเขียนบทสื่อคำบรรยายเป็นเสียงรายการอาหารทางโทรทัศน์เพื่อคนพิการทางสายตา Audio Description ในโครงการตามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ระหว่างสำนักงาน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรมประชาสัมพันธ์ และองค์การกระจายเสียงเเละเเพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยซึ่งในระหว่างทำงานนี้ครูก็มีโอกาสได้คลุกคลีรับฟังความคิดเห็นจากผู้พิการทางสายตา ทำให้รู้สึกว่ายังมีช่องว่างอยู่มากระหว่างผู้ผลิตสายตาปกติ และผู้รับสารที่มีความพิการทางสายตา เรายังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับผู้รับสารกลุ่มนี้อยู่ซึ่งในอนาคตจะมีกฎหมายออกมากำกับให้ผู้ผลิตต้องสร้างเครื่องมือในการเข้าถึงสื่อของผู้พิการให้เกิดความเท่าเทียมมากขึ้น แต่องค์ความรู้เรื่อง Audio Description ในประเทศไทยยังไม่แพร่หลาย งานวิจัยเกี่ยวกับ Audio Description โดยตรงมีเพียงเล่มเดียว จากความสงสัยประกอบกับความขาดแคลนองค์ความรู้ในด้านนี้ จึงตัดสินใจเลือกทำวิจัยเรื่องดังกล่าวค่ะ

  • ในฐานะที่อาจารย์ได้รับรางวัลจากการเป็นนักวิจัยรุ่นใหม่ อาจารย์คิดว่าคุณสมบัติของการเป็นนักวิจัยที่ดีควรเป็นอย่างไร

ช่างสังเกต ขี้สงสัย ขยันอดทน และซื่อสัตย์เพราะในงานวิจัยแก่นหลักของมันคือปัญหานำวิจัย ซึ่งจะมาจากการที่เราเป็นคนช่างสังเกต มองปรากฏการณ์ต่างๆแล้วคิดตาม ขี้สงสัย ชอบตั้งคำถาม ส่วนเรื่องความรู้ในเชิงกระบวนการทำวิจัย ครูคิดว่าเรียนรู้กันได้ แต่ที่สำคัญต้องมีความขยัน ขยันอ่าน ขยันคิด ขยันเขียน ขยันแก้งาน อดทนต่อความทุกข์ท้อใจ และซื่อสัตย์ต่อกระบวนการทำงานทั้งการเลือกกลุ่มตัวอย่าง การเก็บตัวอย่าง การตีความข้อมูล เพื่อให้ผลการวิจัยที่ได้นั้นมีคุณค่า เที่ยงตรง และเกิดประโยชน์มากที่สุด

กว่าจะออกมาเป็นงานวิจัยให้เราได้อ่านแต่ละชิ้นนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะการศึกษา ค้นคว้าหาข้อมูล เพื่อนำมาซึ่งข้อสรุปจากประเด็นปัญหาที่ตั้งไว้ นอกจากความรู้ที่ได้รับจากการค้นคว้าในตำราแล้ว ยังต้องอาศัยทักษะส่วนบุคคลที่ต้องผ่านประสบการณ์และการสังเกตจากสิ่งรอบตัวพัฒนาให้กลายเป็นงานวิจัยที่ให้ประโยชน์สูงสุดแก่ตัวผู้อ่านสุดท้ายคงต้องขอเป็นกำลังใจให้อ.บ๊วย  กุลนารี เสือโรจน์ สร้างสรรค์งานวิจัยดีๆแบบนี้มาให้ทุกคนได้อ่านกันอีกต่อไปในอนาคตนะคะ

BY JCPR

รายละเอียดเพิ่มเติม

Comments

comments

Written by Anchulee.Vis in: Interview |

Faculty of Journalism and Mass Communication, Thammasat University | email: jc.thammasat@gmail.com
StartCounter@15052010

  • Twitter
  • Facebook
  • YouTube