บันทึกนอกห้องเรียน

Posted by: | Posted on: February 22, 2013
Read More ...

บันทึกนอกห้องเรียน

ศรรวริศา เมฆไพบูลย์

[บันทึกการเดินทางในโครงการเสวนาสัญจรหาความรู้เรื่องเด็กชายขอบกับสื่อมวลชน, เชียงใหม่และเชียงราย, ๖-๙ ตุลาคม ๒๕๕๕ จัดโดย คณะทำงานการจัดการความรู้ (Knowledge Management) สู่สถาบันแห่งการเรียนรู้เรื่องสื่อกับเด็ก คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์]

วันที่ ๑ 

ท่าอากาศยานดอนเมือง, ๐๕.๕๐ น.

ฉันหอบเป้มาถึงหน้าประตูขึ้นเครื่องและจ่อมตัวลงบนเก้าอี้ริมหน้าต่าง ก่อนจะหยิบหนังสือออกมาอ่าน สลับกับการเงยหน้าขึ้นชมแสงสีน้ำเงินเข้มค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเทา ชายหนุ่มคนหนึ่งเดินไปหยุดที่หน้าต่างกระจก หยิบกล้องถ่ายรูปออกมารอเครื่องบินที่แล่นทะยานผ่านไปบนรันเวย์ด้านนอก ม่านสีเทาจางแสงลงอีกนิด เสียงรอบตัวเริ่มดังขึ้นตามจำนวนคนที่ทยอยกันเข้ามา เครื่องบินอีกลำคำรนลั่นก่อนเชิดหัวขึ้นสู่ท้องฟ้าขมุกขมัว พระอาทิตย์หายไปข้างไหนก็ไม่รู้…เช่นเดียวกับเพื่อนร่วมทางคนอื่น ฉันก้มหน้าดูนาฬิกา นึกสงสัยอยู่ครามครันว่าแถวเช็กอินยามสายยาวไปถึงไหนหนอ ไม่ได้รู้เลยว่ามือถือที่งัวเงียคว้าก่อนออกจากบ้านนั้นไม่ได้เปิด และคนอีกสี่ห้าคนที่เฝ้ารออยู่นั้นนั่งอยู่ฝั่งตรงข้าม เยื้องไปข้างหลังไม่กี่แถว และกำลังตามหาฉันกันจาละหวั่น เราอยู่ห่างกันไม่ถึงสิบเมตร แต่กลับหากันไม่เจอ…เพราะเสาต้นหนึ่ง (?)

เรากำลังจะออกศึกษาปัญหาที่เด็กและเยาวชนทางภาคเหนือของประเทศกำลังเผชิญ ทั้งเรื่องเด็กติดเชื้อเอชไอวี (จากแม่) เด็กที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม เด็กเร่ร่อน และเด็กไร้รัฐ ในโครงการเสวนาสัญจรเรื่องเด็กชายขอบกับสื่อมวลชน โดยรับฟังปัญหาและข้อสังเกตจากการบรรยาย ซักถามพูดคุย สังเกตการณ์ และเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนทำงานในพื้นที่และเยาวชนผู้เป็นเจ้าของปัญหาโดยตรง

ถึงเวลาขึ้นเครื่อง ฟ้าแจ้งแล้วแต่พระอาทิตย์ยังไม่ยอมแย้มหน้า เสาต้นนั้นยังอยู่ที่เดิม แต่เมื่อใครสักคนขยับ ในที่สุดเราก็ได้พบ

เชียงราย, ๐๙.๐๐ น.  

ถ้าไม่เป็นมือ ก็อย่าเป็นเท้า

ในบ้านหลังเล็กหลังร้านกาแฟ เราคุยกับพี่อ้อยจากมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และสามอาสาสมัครสาวจากกลุ่มวาย-เจน ผู้เป็นหัวแรงหลักในการทำกิจกรรมเสริมสร้างความเข้าใจในหมู่ผู้ติดเชื้อและคนทั่วไป มูลนิธิฯ เริ่มงานในภาคเหนือตั้งแต่สมัยแรกๆ ที่มีข่าวเรื่องเอดส์ ความไม่เข้าใจ ความกลัว และความไม่รู้ ทำให้เกิดความเดียดฉันท์ในชุมชน ส่งต่อจากแม่ถึงลูก และเด็กที่เกิดมาพร้อมเชื้อเอชไอวีคือกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่มูลนิธิฯ พยายามเข้าให้ถึงและเข้าจนถึงได้สำเร็จ ทุกวันนี้มูลนิธิฯ มีเยาวชนอาสาสมัครช่วยทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งค่ายละคร หนังสั้น ศิลปะบำบัด โครงการเพื่อนอาสา และการเยี่ยมแม่วัยใส ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเสริมทักษะชีวิต สานสัมพันธ์ระหว่างคนในกลุ่ม และให้คำปรึกษา ตั้งแต่เรื่องการกินยาไปถึงปัญหาหัวใจวัยสะรุ่น

การพูดคุยกว่าสองชั่วโมงทำให้ ‘พี่ๆ’ จากกรุงเทพฯ ถึงบางอ้อในหลายเรื่อง เราได้รู้ว่าผู้ติดเชื้อเอชไอวีใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ เฉกเช่นผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ตราบใดที่รักษาภูมิคุ้มกันในร่างกายให้อยู่ในระดับปลอดภัย พวกเขาก็เที่ยวเตร่เฮฮาและมีความสุขกับชีวิต…และคนรักได้เหมือนเรา เอ้อ… อาจจะมากกว่าด้วย บางคนมีลูกที่แข็งแรงและไม่ติดเชื้อได้อีกต่างหาก เงื่อนไขก็คือพวกเขาต้องกินยาต้านไวรัสให้ ‘เป๊ะ’ ที่สุดเพื่อไม่ให้เกิดการดื้อยา แล้วก็ต้อง ‘ยืดอก พกถุง’ อีกนิส…

ส่วนคนนอกอย่างเรา แค่เพียงทำใจ ‘วางเฉย’ มอง ‘ผู้ติดเชื้อเอชไอวี’ ได้เท่ากับ (ผู้ติดเชื้อ) โรคอื่น ก็จะช่วยให้ชีวิตของพวกเขาง่ายขึ้นมาก น้องๆ เล่าว่า ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่กล้าบอกใครว่าตนเป็นผู้ติดเชื้อจนกว่าจะ ‘พิจารณาแล้ว’ ว่าไม่ถูกรังเกียจแน่ๆ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือคนรัก บางคนโชคดีเจอคนเข้าใจและยอมรับ ก็ได้แต่งงานเป็นฝั่งเป็นฝา ขณะที่บางคนไม่เคยเปิดเผยตัวว่าเป็นผู้ติดเชื้อ เธอบอกว่า “จะบอกทำไมให้คนรังเกียจเรา รังเกียจครอบครัวเรา บอกไปเขาก็ช่วยอะไรไม่ได้ ตัวหนูเองไม่เคยเจ็บป่วย ไม่เคยมีอาการอะไรสักนิด” เรามองใบหน้ายิ้มแย้มของเธอแล้วก็ต้องยอมรับว่าไม่มีอะไรบ่งบอกรอยโรคในตัวเธอเลย กระนั้นก็ใช่พวกเขาจะรอดไปได้ง่ายๆ ลำพังการกินยาให้ตรงเวลา ซึ่งฟังดูไม่น่าเป็นเรื่องใหญ่โต ก็ถือเป็นสิ่งท้าทายแล้ว หนุ่มสาวทุกคนจริงจังกับการหาวิธีกินยาให้แนบเนียนที่สุด แต่ยิ่งปิดบังก็ยิ่งผิดสังเกต “คนจะสงสัยมากว่าทำไมต้องกินยาตรงเวลาขนาดนี้ ขนาดหลอกว่าเป็นยาบำรุง ก็ยังมีคนมาขอกินด้วย” น้องคนหนึ่งเล่า

นอกจากกินยา ยังมีเรื่องของการไปรับยาที่โรงพยาบาลอีก บางคนไม่ยอมไปรับยาเองเพราะแม้จะเป็นคลินิกนิรนาม แต่เสียงซุบซิบที่ห้ามไม่ได้ก็ทำให้ความรังเกียจที่ไร้หน้าตาแผ่ลาม อย่างน้อยก็ในหมู่ผู้ป่วยที่มารักษาวันเดียวกัน อุปสรรคเรื่องยาทำให้คนถอดใจมีไม่น้อย รุ่นพี่จึงต้องมีหน้าที่ออกตระเวน ‘กล่อมน้อง’ ตามผับ เข้าทำนองเต้นไปตีไป ดื่มไปดุไป หากกล่อมสำเร็จ น้องๆอาจจะแค่ปรับโดสยาใหม่ แต่ถ้าไม่ มีความเป็นไปได้สูงว่าพวกเขาจะถูกแรงเหวี่ยงสะบัดหลุดจากวงโคจร และลงเอยด้วยการเป็นผู้ป่วยเอดส์ในที่สุด

ถามว่าอยากให้ ‘สื่อ’ ช่วยอะไรผู้ติดเชื้อเอชไอวีบ้าง คำตอบที่แทบจะเป็นเสียงเดียวกันก็คือ อยากให้สื่อช่วยเปลี่ยนทัศนคติของสังคมใหม่ ปรับภาพลักษณ์ว่าผู้ติดเชื้อเอชไอวีไม่ใช่ผู้ป่วยเอดส์ ผู้ติดเชื้อเอชไอวีหลายคนไม่แสดงอาการเลยตลอดชีวิต การกินยาช่วยให้พวกเขาแข็งแรง มีชีวิตที่ดี และมีอายุยืนยาวเท่าคนปกติ พวกเขาอยากให้สังคมยอมรับและเปิดพื้นที่ให้ผู้ติดเชื้อได้ใช้ชีวิต เรียนหนังสือและทำงาน ได้รัก ทุกวันนี้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีไม่สามารถทำงานในโรงแรม สถานพยาบาล โรงงาน หรือสถานประกอบการบางแห่ง บวชเรียนก็ไม่ได้ กระทั่งสมัครฌาปนกิจหมู่บ้านก็ยังไม่ได้ “เขากลัวเราตายเร็วมั้งคะ” น้องคนหนึ่งพูดเล่นด้วยแววตาหนักอึ้ง

การได้รับเชื้อจากแม่ การสูญเสียทั้งพ่อแม่และความไร้เดียงสาแห่งวัยเยาว์ และการเติบโตอย่างโดดเดี่ยว ทำให้เยาวชนผู้ติดเชื้อเอชไอวีทุกข์พอแรงแล้ว ไม่จำเป็นต้องได้รับสายตาและถ้อยคำหมิ่นหยามจากคนรอบข้างซ้ำเติมอีก ถ้าเราไม่คิดจะยื่นมือเข้าช่วย ก็อย่าให้ความกลัวหรือความไม่รู้บงการให้เรายื่นเท้าออกไป ‘รังแก’ หรือ ‘กีดขวาง’ สิทธิ์ที่จะมีชีวิตปกติสุขของพวกเขา

๑๓.๐๐ น.

เป็นสุขในวิถี ยินดีในถิ่นเกิด

เป็นเรื่องธรรมดาที่วัยรุ่นจากชุมชนเล็กๆ จะฝันถึงชีวิตที่ดีกว่า ชีวิตที่มีแสงสี หรืออย่างน้อยก็สีสัน ในเมืองใหญ่ และพยายามถีบตัวออกไป ยิ่งไกลยิ่งดี แบกความฝันของตัวเองและความหวังของพ่อแม่เข้าสู่เมืองใหญ่และเมือง(ห)ลวงของประเทศ ทิ้งคนแก่ที่หมดเรี่ยวแรงและเด็กเล็กที่ยังไม่แกร่งพอให้มองตามหลัง แต่ที่เชียงของ เมืองเล็กๆ ริมแม่น้ำโขงของเชียงราย เด็กหนุ่มคนหนึ่งสานความฝันยิ่งใหญ่ของตัวเองด้วยความเชื่อว่าหากชุมชนมีสีสัน เด็กหนุ่มสาวก็จะไม่จากบ้านไปไหน แต่จะหยั่งรากฝากใบอยู่ที่นั่น และวิถีท้องถิ่นจะไม่ถูกทำลาย การทำกิจกรรมและการสร้างมิตรภาพคือเครื่องมือที่ต๊ะใช้ และประสบความสำเร็จด้วยดี ก่อนหน้านั้น เขาทดลองทำกิจกรรมหลายอย่าง ทั้งอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม อบรมการจัดรายการวิทยุ บันทึกประวัติศาสตร์บอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ จนมาลงตัวที่ศิลปวัฒนธรรม ใช้ศิลปะพื้นบ้านอย่างกลองสะบัดไชยเป็นตัวขับเคลื่อน กลุ่มเยาวชนเล็กๆ ของเขากลายเป็นที่พึ่งที่พักพิงของวัยรุ่นในชุมชน การฝึกฝนอย่างหนัก การออกศึกษาแลกเปลี่ยนกับผู้รู้ในถิ่นอื่นๆ และความคิดสร้างสรรค์ พัฒนาจนเกิดศิลปะประยุกต์อย่าง บี(บอย)สะบัดไชย ที่เรียกเสียงปรบมือเกรียวกราวจากทุกเวที ขณะเดียวกัน ต๊ะก็ต้องดิ้นรนหาเงินทุนสนับสนุนเพื่อให้กลุ่มของเขาดำรงอยู่ ทั้งจากการเขียนโครงการเสนอหน่วยงานต่างๆ และการออกงานในชุมชนและจังหวัดใกล้เคียง เขาอยากให้น้องๆ ภาคภูมิใจกับศิลปะพื้นบ้าน พัฒนาและสืบสานสิ่งเหล่านี้ให้คงอยู่ในลักษณะที่เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ไม่ละทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดไปอยู่ที่อื่น “ทำแล้วได้เงิน ได้สนุกกับเพื่อน ได้สนุกกับสิ่งที่ทำ ขณะเดียวกันก็ได้อนุรักษ์ ได้ทำเรื่องดีๆ ได้เปิดหูเปิดตา ไปไหนมาไหน แค่นี้ก็ถือว่าดีแล้ว แต่ถ้าทำให้พวกน้องๆ ไม่คิดจากบ้านไปอยู่ที่อื่น แต่อยากกลับมาบ้านเรา กลับมาพัฒนา เป็นเรี่ยวแรง นั่นละครับดีที่สุด” เขาสรุปการทำงานของตัวเองสั้นๆ

ความสนุกสนาน การแสดงออก และมิตรภาพคือคำตอบที่ยึดเหนี่ยวเกี่ยวรั้งความฝันไม่ให้ลอยไกลจากบ้านเกิดได้จริงๆ อย่างที่ฉายชัดในคำพูดและแววตาของหนุ่มน้อยสองคนที่ต๊ะพามาด้วย แทนกับเต้งคือสองหนุ่มที่เข้ามาเรียนต่อในเชียงราย ทั้งคู่โตมากับกลองสะบัดไชยและทำได้ทุกอย่างในวง มาถึงวันนี้พวกเขาเห็นภาพตัวเองในอนาคตวนเวียนอยู่ที่บ้านเกิด ฝันจะกลับไปเป็นครูหรือสืบสานกิจการของพ่อแม่ แทนที่จะไปหาแสงสีในเมืองใหญ่

ฉันมองพวกเขานั่งมอเตอร์ไซค์ซ้อนสามจากไปพร้อมไฟฝันของวัยหนุ่ม นึกถึงความฝันสมัยเด็กๆ ของตัวเองที่อยากมีบ้านอยู่ต่างจังหวัด มีที่ไปในช่วงวันหยุดยาว พูดภาษาถิ่นที่คนอื่นฟังไม่ออก นึกอิจฉาอยู่ครามครันที่พวกเขามีทุกอย่าง ทั้งยังโชคดีซ้ำสองที่ได้ค้นพบว่าความสุขอยู่ที่นั่น…และความฝันก็อยู่ด้วย ใครจะต้องการอะไรมากไปกว่านี้

วันที่ ๒

อำเภอฝาง, ๑๐.๐๐ น.

หนีร้อนมาพึ่งเย็น

ภูมิประเทศสูงๆ ต่ำๆ หมู่บ้านชาวเขา ใบหน้าใสซื่อและเสื้อผ้าสีดำแดงของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่แวบให้เห็นตามเส้นทางผ่าน ชวนให้นึกถึงโฆษณาล้อเลียนที่ตำรวจถามว่า “เป็นคนไทยหรือเปล่า” และผู้ถูกถามยืนตรงร้องเพลง ‘ลอยกระทง’ เสียงเจื้อยแจ้วเมื่อหลายปีก่อน โฆษณานี้สะกิดเบาๆ ให้รู้ว่าเรามีปัญหา “คนต่างด้าว” หนีเข้าเมือง ก่อนจะตอกย้ำด้วยข้อเท็จจริงในปัจจุบันว่า “เด็กต่างชาติ” กลายเป็นแรงงานสำคัญในการทำงานบ้าน ร้านค้า และรีสอร์ตไปเสียแล้ว แต่วังวนของปัญหาคนไร้สัญชาติสลับซับซ้อนกว่าการลักลอบเข้าเมืองทั่วไปมากนัก (ลองนึกถึงสีหน้าและแววตาของหนุ่มสาวโรฮิงญาในข่าวดูเถอะ) ด้วยความหลากหลายของตัวบุคคล ช่องว่าง และความไม่ชัดเจนของกฎหมายและนโยบายรัฐในแต่ละยุคสมัย ประสบการณ์และจำนวนอันจำกัดของเจ้าหน้าที่ เลยไปถึงระบบราชการและความ (ไม่) ร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐ ทำให้เด็กจำนวนมาก ทั้งที่พ่อแม่หอบหิ้วเข้ามาและที่เกิดภายหลัง ไม่มีสถานะหรือตัวตนที่รัฐรับรองจนไม่ได้รับสิทธิพื้นฐานต่างๆ เช่น การกู้เงิน การศึกษา การรักษาพยาบาล การทำงาน รวมถึงการเรียกร้องความเป็นธรรมให้ตัวเอง

ฝางเป็นรอยต่อของไทยกับพม่าที่มี ‘คนต่างด้าว’ เข้าออกเพื่อลี้ภัยสงคราม ภัยการเมือง และหางานทำตลอดเวลา แม้ทางการจะเร่งมือเพียงใด งานที่ประกอบด้วยการติดตามตรวจสอบข้อมูล จัดทำฐานข้อมูลทะเบียนประวัติ เก็บข้อมูลหมวดหมู่ (จัดทำสถานะ) ก็ดูไม่มีวันสิ้นสุด เพราะการปฏิบัติงานในพื้นที่มีความละเอียดอ่อนและรายละเอียดที่นโยบายไม่ได้กำหนดไว้ชัดเจน และคนไร้สัญชาติอีกหลายกรณีก็ยังคงรอแล้วรอเล่า

ในห้องเรียนเล็กๆ แห่งหนึ่งในเขตแดนไทยที่มีหญิงชาวไทยใหญ่ แสงดาว วงปา เป็นครูประจำชั้น มีเด็กด้อยโอกาสและเด็กไร้สัญชาติอยู่หลายคน  รวมถึงตัวเธอเองด้วย แม้จะเกิดและโตที่นี่ แต่การโยกย้ายถิ่นฐานและความไม่เข้าใจภาษาไทยของพ่อแม่ทำให้แสงดาวเป็นคนไร้สัญชาติที่ถือบัตรอนุญาตทำงานชั่วคราว ในขณะที่น้องชายได้รับสัญชาติถูกต้องเพราะเกิดในช่วงที่พ่อแม่ตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่ง ทุกครั้งที่ต้องเดินทางจากเชียงรายไปเชียงใหม่ (หรือที่อื่นๆ) เธอต้องพกจดหมายอนุญาตให้เดินทางข้ามเขตติดตัวเสมอเพราะเคยถูกตำรวจเรียกตรวจและไล่กลับกลางทางมาแล้ว แม้จะน้อยเนื้อต่ำใจที่ต้องกลายเป็นคนต่างด้าวในดินแดนแห่งเดียวที่รู้จัก แต่เธอยังมุ่งมั่นที่จะสอนหนังสือและรอคอยวันที่จะได้เป็น ‘ไทยสมบูรณ์’ ต่อไป

หรือจะเป็น…หนีเสือปะจระเข้

“เอาคนจนมาเป็นคนไทยมันเป็นเรื่องใหญ่เพราะต้องเลี้ยงดูเยอะ” อภิรักษ์ พุ่มจำปา ผู้ดำเนินการเร่งรัดกำหนดสัญชาติคนหนึ่งของอำเภอฝาง บอก เขาอธิบายว่าปัญหาคนไร้สัญชาติเกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งการตกสำรวจมาแต่เดิม ความไม่สนใจหรือไม่เห็นความสำคัญของการมีสัญชาติเนื่องจากเดิมไม่มีผลประโยชน์ ความไม่มีประสิทธิภาพในการสื่อสารด้วยภาษาชนเผ่า และข้อมูลในหลักฐานขัดแย้งกันเอง เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบเพราะไม่มีใครอยากให้เกิดข้อผิดพลาดขึ้น ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม

เมื่อนโยบายประชานิยมมอบสวัสดิการบางอย่างให้ทุกชีวิตที่พะป้าย ‘ไทย’ คนไร้สัญชาติจำนวนมากที่อยู่เงียบๆ ในซอกมุมต่างๆ จึงพากันออกมาเรียกร้องสถานะเพื่อรับสิทธิประโยชน์นั้น จนรัฐบาลจึงต้องกำหนดเงื่อนไขคัดกรองต่างๆ เช่น ต้องมีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าเกิดในไทย มีพ่อหรือแม่เป็นคนไทยหรือเกิดในเมืองไทย หรือเป็นต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยถูกกฎหมาย หาไม่ ผู้ประสงค์จะขอสัญชาติไทยจะต้องมีคุณสมบัติที่พึงประสงค์ เช่น จบการศึกษาระดับปริญญาตรี มีเงินเดือนสูงกว่าสามหมื่นบาท และทำคุณประโยชน์ให้ประเทศชาติ ซึ่งนั่นดูจะเหลือวิสัยสำหรับคนเล็กคนน้อยตามตะเข็บชายแดน

สมศรีคือตัวอย่างของเด็กไร้สัญชาติด้อยโอกาสที่เกิดในเมืองไทย แต่การเดินทางเข้าๆ ออกๆ ของพ่อแม่ทำให้เด็กสาววัยสิบห้าตกสำรวจ ไม่มีหลักฐานเอกสารหรือพยานบุคคลยืนยัน และการไม่มีบัตรก็หมายถึงอิสรภาพอันจำกัด สมศรีไม่ได้รับอนุญาตให้ออกจากพื้นที่ หรือพูดให้ชัดๆ ก็คือไร่ส้มที่พี่สาวของเธอทำงานอยู่ เธอพักในเพิงเล็กๆ ทำงานแลกค่าจ้างน้อยนิดโดยไม่มีวันหยุด ไม่มีเงินเก็บ ไม่มีสังคม ไม่มีชีวิตส่วนตัว ไม่ต้องพูดถึงสวัสดิการหรือการรักษาพยาบาล ขณะที่ต้องกินอยู่หลับนอนท่ามกลางปุ๋ยและยาฆ่าแมลง ไม่มีสิทธิจะลาออกหรือเปลี่ยนงาน ดูคล้ายทาสติดที่ดินซึ่งไม่มีความหวังใดรออยู่ ไม่ว่าที่นี่…หรือที่ไหน

ภาวะ ‘กลับไม่ได้ ไปไม่ถึง’ เช่นนี้ หากไม่ได้ประสบด้วยตนเอง ก็ยากที่ใครจะเข้าใจได้อย่างถ่องแท้

วันที่ ๓

เชียงใหม่, ๐๙.๐๐ น.

ทลายกำแพง “นกขมิ้น”

ในค่ำคืนที่ความเหน็บหนาวบาดลึกในใจ เด็กจำนวนไม่น้อยตัดสินใจหนีไฟฟอนร้อนรุ่มในบ้านออกไปใช้ชีวิตแบบ ‘นกขมิ้น’ แล้วโชคชะตา (และรถไฟฟรี) ก็ชักนำให้พวกเขาบินห่างไปเรื่อยๆ หนีจากบ้านเกิด หนีจากชุมชน หนีจากระบบดูแลของรัฐ กร้านและกร้าวขึ้นตามหลักกิโลเมตรที่ผ่าน

ในเชียงใหม่ เด็กเร่ร่อนทั้งในพื้นที่และต่างถิ่นจะวนเวียนอยู่ในเวียง พวกที่อายุน้อยๆ จะขายดอก (ไม้) หรือจับเต่า (ขายคน ‘ทำบุญ’ ที่วัด) ที่โตหน่อยก็เริ่มขายบริการในบาร์เบียร์ หรือตั้งตัวเป็นหัวหน้าแก๊ง พัวพันยาเสพติด (ดมกาว) ติดเกม ลักขโมย เกิดเป็นวัฏจักรสีดำขึ้น นอกจากนี้ยังมีเด็กเอ๋อ หรือเด็กที่มีปัญหาเรื่องพัฒนาการทางสมอง ช้า สมาธิสั้น ไอคิวต่ำ ซึ่งเพิ่มจำนวนขึ้นในช่วง 8-9 ปีหลัง ลักษณะปัญหาในปัจจุบันอาจไม่หนักหน่วงและจบเศร้าเหมือนสมัยก่อนซึ่งเป็นเรื่องของเฮโรอีนและโรคเอดส์ที่ส่งผลถึงชีวิตอย่างรวดเร็ว แต่ระดับความเสียหายรุนแรงไม่ต่างกัน

ครูเอกและครูโพจน์ สองหนุ่มจากมูลนิธิอาสาพัฒนาเด็ก เล่าให้ฟังว่า เด็กจากต่างถิ่นมีจำนวนมากขึ้นในระยะหลัง แต่ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่ไหน ต้นธารของปัญหาก็เหมือนกัน “ปัญหามักเกิดจากครอบครัวแตกแยกที่มีฐานะไม่ค่อยดีนัก เด็กฐานะดีจะไม่ค่อยเร่ร่อนเพราะมีทางเลือกอื่น เด็กบางคนมีพ่อแม่ครบ แต่ถ้าถาม จะพบว่าส่วนใหญ่ไม่ใช่พ่อจริงหรือไม่ใช่ลูกจริง อีกเหตุผลหนึ่งคือหนีการใช้ความรุนแรง ถูกทำร้ายร่างกาย เอาไม้แขวนเสื้อตี หรือถูกพ่อเลี้ยงละเมิด”

เช่นเดียวกับเด็กชาติพันธุ์ที่มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาหนีออกจากบ้านด้วยเหตุผลคล้ายกัน พ่อแม่ดูแลไม่ทั่วถึงเพราะมีลูกมาก หรือใช้ให้ออกไปทำงาน เด็กส่วนใหญ่ไม่ได้ไปโรงเรียน แม้บางคนจะเกิดที่นี่ แต่ไม่มีสัญชาติ เพราะไม่มีหลักฐานพิสูจน์และสื่อสารกันไม่เข้าใจ แต่บางครั้งสาเหตุก็มาจากเจ้าหน้าที่ เช่น เจ้าหน้าที่ไม่รู้กฎหมาย ไม่รู้สิทธิ หรือไม่ทำเรื่องให้ ส่งผลให้เด็กไม่ได้เรียนหนังสือ ไม่ได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาล มูลนิธิฯ ต้องเข้าไปช่วยด้วยการประสานงาน ยื่นคำร้อง และเป็นตัวแทนพูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้องให้

ไม่ว่าจะเป็นใคร เด็กที่ใช้ชีวิตตามลำพังจำเป็นต้องใช้ความกล้ากร้าวเป็นกำแพงพรางความอ่อนแอ เพื่อปกป้องตัวเองจากการถูกเด็กโตกว่ารังแก ครูโพจน์บอกว่า การทำงานกับเด็กต้องใจเย็นและพยายามเข้าใจว่าทำไมพวกเขาถึงร้ายกาจ ก้าวร้าว หยาบคาย วิธีที่ดีที่สุดในการทลายกำแพงคือการทำตัวเป็นเพื่อน อย่าทำเหมือนเขาเป็นเด็ก และต้องให้เวลาในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี “อย่าหวังว่าจะได้ข้อมูลจริงในช่วงเดือนสองเดือนแรก เด็กมีแนวโน้มจะกุเรื่องขึ้น” แต่เมื่อเราปฏิบัติเหมือนเขาเป็นผู้ใหญ่ ให้ความไว้วางใจ ความเป็นมิตร มอบหมายหน้าที่รับผิดชอบให้ และรับฟังความคิดเห็น เด็กจะทำตัวอ่อนลงและไว้ใจเราในที่สุด

เกมที่มี ‘เด็ก’ เป็น ‘เดิมพัน’

มูลนิธิอาสาพัฒนาเด็กจะประสานงานกับองค์กรเครือข่ายต่างๆ เพื่อดูแลสิทธิเด็กและการศึกษาขั้นพื้นฐาน จัดเวทีคู่ขนานเพื่อทำกิจกรรมรณรงค์และพูดคุยเรื่องปัญหาเด็ก รวมทั้งเปิดมูลนิธิฯ เป็นที่พึ่งที่พักให้เด็กๆแวะมาอาบน้ำ กินข้าว ปรับทุกข์ ครูโพจน์ บอกว่า “ที่นี่เปิดตลอดเวลา อยากมาเมื่อไรก็มา อยากอยู่นานแค่ไหนก็อยู่ เราให้เขาอยู่แบบเพื่อน ไว้วางใจ รับฟังทุกเรื่อง กฎต่างๆ ก็ให้ตั้งเอง” วิธีนี้ช่วยสร้างความสัมพันธ์และความไว้วางใจได้ เมื่อเวลาผ่านไป เด็กที่ตั้งตัวเป็นหัวโจกจะให้ความร่วมมือ ช่วยสอดส่องและแจ้งข่าวเมื่อพบปัญหาหรือมีเด็กต้องการความช่วยเหลือ เช่น ถูกทำร้ายหรือไม่สบาย มูลนิธิฯ จะประสานหน่วยงานอื่นๆ เช่น ตำรวจ ชุมชน โรงพยาบาล อัยการ ศูนย์ประสานงานเพื่อพิทักษ์สิทธิเด็กจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน โดยการทำงานจะได้ผลเพียงใดขึ้นอยู่กับความกระตือรือร้นของหัวหน้า “ถ้าให้พูดจริงๆ ก็อยากได้คนที่เข้าใจเด็ก คุยกับเด็กดีๆ เข้าใจแนวคิดเรื่องสิทธิเด็ก” ครูโพจน์บอกก่อนขยายความต่อว่า “เพราะการทำงานเรื่องเด็กมีความละเอียดอ่อน มีข้อกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง ต้องทำงานร่วมกับเป็นทีม สานความร่วมมืออย่างจริงจังทุกฝ่าย ต้องลดทิฐิว่าเธอเป็นรัฐ ฉันเป็นเอกชน แม้จะมีข้อจำกัด ก็ต้องหาจุดที่ทำงานประสานกันให้ได้”

มูลนิธิฯ ยังมีบ้านพักฟื้นฟูที่สันกำแพง รับเด็กที่เต็มใจเข้าไปปรับพฤติกรรมและเตรียมความพร้อมให้เด็กๆกลับคืนสังคม โดยได้ทุนช่วยเหลือจากญี่ปุ่น และจัดโครงการระดมทุนด้วยการเปิดร้านขายของฝีมือเด็กๆ ที่ผ่านกิจกรรมศิลปะบำบัด ทั้งวาดรูปและเย็บผ้า ที่ร้าน ด.เด็ก ห้องแถวเล็กๆ เยื้องไปรษณีย์พระสิงห์ ซึ่งเป็นจุดแวะที่น่าสนใจถ้าคิดจะแวะไปนมัสการพระสิงห์หรือพระพุทธสิหิงค์ (จำลอง) ชมซุ้มประตูโขงและจิตรกรรมฝาผนัง (รวมทั้งทักทาย ‘สิงห์ผมม้า’ หน้าอุโบสถ) ที่วัดพระสิงห์อยู่แล้ว นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้แก่ชุมชน ทั้งเรื่องการดูแลเด็ก การคุมกำเนิด และการดูแลแม่ที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม ซึ่งเป็นกระบวนการช่วยเหลือและสร้างภูมิคุ้มกันที่ยึดเด็กเป็นตัวตั้ง มีการวางแผนเป็นขั้นตอน มีระบบ ครบวงจร น่าจะเป็นความหวังในการแก้ปัญหาเด็กเร่ร่อนได้ไม่น้อยทีเดียว

แม้จะท้อก็หลายครั้ง ตั้งใจเลิกก็หลายหน แต่คำขอร้องของเด็กๆ แววตาใสซื่อ และความผูกพันอันยาวนานทำให้ครูหนุ่มทั้งสองยังทำงานอยู่โดยตระหนักดีว่าปัญหานี้ใหญ่โตและหนักหนาเพียงใด แต่ก็หวังว่าพวกเขาจะเป็นส่วนหนึ่งในการประคับประคองชีวิตเล็กๆ เหล่านั้นให้หยัดยืนและก้าวต่อไป “เราคงห้ามหรือบังคับกะเกณฑ์พวกเขาไม่ได้ แต่อย่างน้อย เราจะพยายามแนะ พยายามบอก จะทำอะไรขอให้คิดให้ดี ป้องกันได้ไหม อย่า ‘ขายทิ้งขายขว้าง’ ได้ไหม” ครูโพจน์บอก

คงไม่มีเด็กคนไหนเลือกออกมาเร่ร่อน ใช้ชีวิตข้างถนน ถ้ามีหนทางที่ดีกว่า และสิ่งสารพัดข้างนอกก็หล่อหลอมให้เด็กหลายคนต้องเป็นมากกว่าเด็ก การพาเขากลับบ้านหรือชักนำให้เขาใช้ชีวิตดีงามข้างถนนไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่ใช่เรื่องสนุก แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำและต้องมีคนทำ ไม่ใช่เพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง แต่เพื่อให้ชีวิตหนึ่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้โดยไม่ทำร้ายตัวเองและคนอื่นไปมากกว่าที่ตนเองเคยถูกกระทำ

วันที่ ๔

ดาดฟ้าโรงแรมพิงค์นคร, ๑๐.๐๐ น.

ความเหมือนในความต่าง
นอกจากจะคุยกับเด็กเจ้าของเรื่อง ผู้ใหญ่ที่ดูแลช่วยเหลือ และตัวแทนของรัฐ เรายังคุยกันเองหลายครั้ง (อย่างเข้มข้น) เพื่อให้ได้ข้อสรุป เพื่อให้ได้เนื้อหาการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับความเป็นจริงในสังคม ทำความเข้าใจที่มา สาเหตุ และกระบวนการแก้ไขต่างๆ ไปจนถึงการลำดับความคิดและสะท้อนภาพที่ถูกต้องในสถานการณ์จริง เพื่อให้ผู้เรียนนำไปแปรเป็นการกระทำที่ควรจะเป็นได้ในเวลาที่เหมาะสม และเชื่อเถอะว่าการทำความเข้าใจภูเขาน้ำแข็งแห่งปัญหาที่สะสมตัวมานานและซ่อนอยู่ใต้ห้วงน้ำสีเข้มลึกไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
แม้ประเด็นปัญหาที่พบจะมีหลายลักษณะ ทั้งเรื่องสุขภาพในกรณีเด็กติดเชื้อเอชไอวีจากแม่ ปัญหาครอบครัวขาดรักที่ผลักเด็กออกมาเร่ร่อน ปัญหาการเมืองและสังคมจากเด็กไร้สัญชาติที่พ่อแม่พาหนีสงครามหรือความยากจนเข้ามา แต่ถ้าพินิจให้ดี จะเห็นว่าทุกเรื่องล้วนมีสาเหตุจากผู้ใหญ่หรือเป็นผลพวงของสิ่งที่ผู้ใหญ่กระทำต่อกันหรือกระทำต่อเด็กทั้งสิ้น คงไม่ใช่เรื่องเกินจริงถ้าจะสรุปว่าปัญหาของเด็กเกิดจากผู้ใหญ่ และผู้ใหญ่ทุกคนต้องมีส่วนช่วยแก้ไขและป้องกันไม่ให้ลุกลามบานปลายหรือกลายเป็นวัฏจักรซ้ำซาก ซึ่งจะทำได้เมื่อมีการตระหนักรับรู้และสาวกลับไปถึงต้นเหตุเพื่อหาทางแก้
การเลือกวิธีแก้ไขอันมากมายหลายหลากต้องพิจารณาบริบทของเรื่อง ตัวบุคคล และรายละเอียด สิ่งสำคัญที่สุดอยู่ที่มุมมอง เราต้องยอมรับก่อนว่าการแก้ปัญหาไม่มีสูตรสำเร็จ จะเลือกทำหรือประยุกต์อย่างไรต้องดูเงื่อนไขประกอบอื่นๆ ทั้งตัวเด็ก ครอบครัว ชุมชน สถานการณ์แวดล้อม นโยบายทางการเมือง นวัตกรรมการแพทย์ และสภาพเศรษฐกิจสังคม ขณะเดียวกันก็ต้องยึดจุดยืนของการทำเพื่อประโยชน์ของเด็กเป็นสำคัญ การทำงานกับเด็กต้องใจเย็น ไม่คาดหวัง ไม่ตัดสิน ไม่ตอกย้ำความผิด และนอกจากโฟกัสที่เด็กแล้ว หากเป็นไปได้ ควรสร้างความตระหนักรู้ให้ชุมชนและครอบครัวเข้าใจบทบาทของตนด้วย
สำหรับแง่มุมการนำเสนอข่าวของสื่อ ทุกฝ่ายคิดเห็นไปในทางเดียวกันว่าสื่อปัจจุบันกระหายข่าวเกินไปและมักนำเสนอข่าวเชิงวิพากษ์โดยละเลยข้อควรระวัง อาทิ การไม่นำเสนอใบหน้า เป็นต้น สื่อควรคำนึงถึงข้อกฎหมายและผลกระทบเชิงสังคม ทั้งต่อเด็ก สังคม และชุมชน ให้มาก ปรับมุมมองในการนำเสนอข่าวเชิงบวกเพื่อให้เกิดประโยชน์กับเด็กจริงๆ มากขึ้น โดยต้องศึกษาประเด็นให้ครบถ้วนรอบด้าน นำเสนอให้ชัดเจน กลั่นกรองคำพูดอย่างดี อย่างที่ครูเอกบอกไว้ว่า “แน่นอนว่าปัญหามีอยู่ แต่เด็กจะดีได้ถ้าเราให้โอกาส ทำให้สังคมเห็นศักยภาพของเด็กมากกว่าปัญหาที่พวกเขาสร้าง”

มุมมอง จุดยืน กับการขยับองศา

เรื่องราวระหว่างก้าวอันยาวไกลทำให้ฉันปะติดปะต่อภาพที่เคยกระจัดกระจายให้เป็นกลุ่มก้อนมากขึ้น โดย เฉพาะในบริบททางวิชาการ ความเป็นจริงของสังคมกับการเรียนการสอนและการสร้างบัณฑิตที่พึงประสงค์ สถาบันการศึกษามีหน้าที่สร้างบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจให้ออกไปทำงานได้อย่างมีความตระหนักรับรู้ มีมุมมอง จุดยืน และทัศนคติที่ถูกต้องต่อผู้คน สถาบันการศึกษาคือโลกเสมือนที่เปิดโอกาสให้เกิดการเรียนรู้ และคงไม่มีโปรแกรมเสมือนใดให้ผลดีเท่ากับการจำลองของจริงมาให้พวกเขาได้สัมผัส
และปัญหาที่ดูห่างไกลเหล่านี้ใกล้ตัวกว่าที่คิด เพราะเราคือส่วนหนึ่งของสังคม ชุมชน และครอบครัว และทั้งหมดนี้พัวพันกันอย่างแยกไม่ออก หากครอบครัวแตกแยก พ่อแม่ไม่ซื่อสัตย์ต่อกันและไม่หันหน้าเข้าหากัน ลูกก็มีโอกาสหนีเตลิดออกไปเร่ร่อนหรือติดเชื้อเอชไอวีได้ ครอบครัวและชุมชนที่ไม่แข็งแรงย่อมไม่อาจต้านทานกระแสสังคมที่โหมซัด ส่งผลให้ค่านิยมหรือระบบทุนนิยมพัดลูกหลานหนีหายไปจากวิถีชีวิต และเมื่อนโยบายทางการเมืองไม่ชัดเจน ปัญหาการอพยพเข้าเมืองผิดกฎหมายก็จะส่งผลกระทบต่อคนในประเทศ ทั้งปัญหาสุขภาพ สวัสดิการ การใช้ทรัพยากร และทั้งหมดนั้น ‘เป็นเรื่องเดียวกัน’
บ้านของเราอาจอบอุ่นและปลอดภัยในรั้วรอบขอบชิด แต่เรามองแค่นั้นไม่ได้ หากบ้านข้างๆ เหน็บหนาวหรือเร่าร้อน เราก็มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบไปด้วย ไม่มีใครอยู่สุขได้ในชุมชนที่แตกแยก เยียบเย็น และเข่นฆ่ากัน หน้าที่รับผิดชอบของเราจึงไม่ได้จำกัดอยู่ในบ้านเท่านั้น แต่ต้องดูแลไปถึงเพื่อนบ้าน ชุมชน สังคม ประเทศชาติ และเพื่อนร่วมโลกอื่นๆ ในฐานะผู้ผลิตสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ความสำคัญของการปรับมุมมอง กำหนดจุดยืน และเปิดใจให้กว้าง คือตัวแปรหลักที่จะช่วยให้เราทำความเข้าใจปัญหาให้รอบด้านเพื่อนำเสนอสารที่ถูกถ้วนและเป็นธรรมให้ผู้อ่าน ผู้ชม และผู้ฟังรับรู้
อย่าวางใจว่ารั้วจะกั้นและแก้ปัญหาทุกอย่างได้ เพราะรั้วเป็นแค่เส้นสมมติที่ปักไว้ป้องกันการก้าวข้ามเขตของสิ่งไม่พึงประสงค์ แต่นอกจากจะกั้นกรองได้ไม่หมดแล้ว รั้วยังอาจทำให้สิ่งไม่พึงประสงค์บางอย่างออกไม่ได้และสิ่งที่พึงประสงค์ก็เข้าไม่ได้เช่นกัน รั้วจริงๆ อาจผุกร่อนหรือทุบทิ้งได้ทุกเมื่อ แต่รั้วทึบหนาที่สร้างขึ้นในใจยากจะขจัดและรื้อถอน หลายปัญหาอาจไม่ต้องแก้และไม่ต้องกันให้เหนื่อยด้วยซ้ำ แค่ยอมลดอคติ ปรับทัศนคติ และขยับตัวไปมองโลกในองศาที่ต่าง ซึ่งง่ายกว่ากันหลายเท่า
เสาบางๆ หนึ่งต้นทำให้คนที่อยู่ห่างกันไม่ถึงสิบเมตรมองไม่เห็นกันได้ จนกระทั่งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขยับตัว และฉันก็ดีใจที่ได้ยืนอยู่หลังเสาต้นนั้น
สุดท้าย… การเดินทางออกนอกห้องเรียนไม่เพียงให้เราได้ความรู้และความเข้าใจตามรายทางเท่านั้น แต่ยังเปิดโอกาสให้เราสร้างมิตรภาพ สานความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวที่จะค้นคำตอบและหาความหมายจากผู้คนบนหนทางผ่าน อันเป็นการเสริมความแข็งแกร่งของทีมด้วย คงจะจริงดังที่หัวหน้าทัวร์ เอ๊ย หัวหน้าทีม บอกไว้ว่า การทำงานเป็นทีมอย่างทุ่มเท ใส่หัวใจและความคิดลงไปเต็มๆ เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก…แต่หากทำได้แล้วก็จะยังความสุขรื่นชื่นใจมาสู่ทีมงานทุกคน แม้การประชุมในห้องอาหาร ร้านกาแฟ และบนดาดฟ้า จะหนักเหนื่อยและยาวนาน แต่เราก็มีเสียงหัวเราะบนภูสูงและเสียงเพลงหวานละมุนในห้องรับแขกอุ่นอวล นั่นคือส่วนผสมที่ทำให้การเดินทางครั้งนี้มีความทรงจำที่ดีมากมายหลายเพลง เอ๊ย หลายเรื่อง และเป็นเครื่องยืนยันว่า การทำงานด้วยความรักและความตั้งใจช่วยให้ความสนุกอย่างมีสาระนั้น ‘เป็นไปได้’ จริงๆ
+++

ขอขอบคุณ

มูลนิธิเข้าถึงเอดส์
กลุ่มเยาวชนรักษ์เชียงของ
มูลนิธิอาสาเพื่อพัฒนาเด็ก
ที่ว่าการอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่
ครูแสงดาว วงปา
และเด็กของแผ่นดินทุกคน

Comments

comments





Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *