“สื่ออย่างไรให้ (เข้า) ถึงใจเด็ก”

Posted by: | Posted on: May 28, 2013
Read More ...

“สื่ออย่างไรให้ (เข้า) ถึงใจเด็ก”                                                                                   

ประไพพิศ มุทิตาเจริญ
กลุ่มวิชาประชาสัมพันธ์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน

“พวกผู้ใหญ่ไม่รู้หรอกว่า พวกเรากำลังพูดถึงอะไร
แต่เรารู้ว่าเราพูดถึงอะไรอยู่
ครูและผู้ใหญ่และทุกๆ คนคอยแต่สัมภาษณ์คนโน้นคนนี้
ประหลาดใจจังว่า ทำไมล่ะ ทำไมไม่เคยสัมภาษณ์พวกเราบ้าง

– คำพูดบางตอนของเด็กๆ อายุ 8-18 ปี ที่อยู่ในบาร์เบโดส แคนาดา อิสราเอล ปาเลสไตน์ นามิเบีย ไอร์แลนด์เหนือ อังกฤษ และโรมาเนีย จากงานวิจัย “เรื่องเด็ก” ของซาร่าห์ แม็คครัม และพอล เบอร์นัล

 เมื่อใดก็ตามที่มนุษย์ตัวโต หรือที่เรียกกันว่า “ผู้ใหญ่” มีปฏิสัมพันธ์ใดๆ กับมนุษย์ตัวเล็กที่มักถูกเรียกว่า “เด็ก” ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างครู-นักเรียน พ่อแม่-ลูกน้อย พี่-น้อง ลุง-หลาน ฯลฯ ผู้ใหญ่อย่างเราย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่ามักจะมองเห็นพวกเขาเป็นผู้ด้อยกว่า…ไม่มากก็น้อย  ไม่ว่าในเชิงกายภาพ ความคิด หรือทัศนคติที่พวกเขาแสดงออก และไม่ว่าจะด้วยเจตนาหรือไม่ก็ตาม เช่น ความเอ็นดูของผู้ใหญ่ที่มีต่อเด็ก อาจทำให้ความเห็นของเด็กกลายเป็นเรื่องขำขัน สนุกสนาน น่ารัก มากกว่าจะเป็นการแสดงออกถึงความน่าเชื่อถือในความเห็นของเด็ก

หากมองสังคมไทยซึ่งมีสุภาษิตสอนใจต่างๆ ในเชิงให้เด็กรู้สึกว่าต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่อย่างสงบราบคาบ เช่น “เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด” “เป็นผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อน” ฯลฯ แม้คำพังเพยเหล่านี้จะร้อยเรียงขึ้นมาจากเจตนาที่ดี แต่ในอีกมุมหนึ่งก็เป็นสัญญะที่สะท้อนถึงการจำกัดขอบเขตแห่งการให้พื้นที่และคุณค่าของความเห็นหรือทัศนคติของเด็กที่ต้องการสื่อความให้คนตัวโตอย่างเราเข้าใจด้วยเช่นกัน มีคำพูดของเด็กจากงานวิจัยของซาร่าห์ แม็คครัม และพอล เบอร์นัล ตอนหนึ่งที่ว่า “พวกผู้ใหญ่มักจะชอบคิดว่าเราไม่รู้เรื่องอะไรเลย  อย่างเรื่องการเมือง เวลาที่เราแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ พวกเขาก็จะบอกว่า…อยู่เฉยๆ เถอะน่า พวกเธอไม่รู้หรอกว่ากำลังพูดถึงอะไรกันอยู่”

คำพูดของเด็กๆ จากงานวิจัยของซาร่าห์ แม็คครัม และพอล เบอร์นัล สะท้อนความเห็นและความต้องการของมนุษย์ตัวเล็กที่จะได้รับการยอมรับจากมนุษย์ตัวโตได้เป็นอย่างดี..เพียงแค่นั่งนิ่งๆ นึกย้อนกลับไปสมัยที่เราเป็นเด็ก ประโยคเหล่านั้นล้วนเป็นความรู้สึกที่เราต่างมีประสบการณ์ร่วมไม่มากก็น้อย

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราในฐานะมนุษย์ตัวโต ซึ่งทำหน้าที่สื่อมวลชนหรือว่าที่ “สื่อ”ในอนาคต จะถือเป็นหน้าที่หลักในการทำให้เสียงและความคิดของมนุษย์ตัวเล็กเหล่านี้สะท้อนออกไปสู่สังคมโดยไม่ถูกจำกัดพื้นที่และคุณค่าผ่านกระบวนการทำงานของเรา เพราะนั่นหมายถึงการรักษาสิทธิของมนุษย์ตัวน้อยหรือ “เด็ก” ด้วยเช่นกัน

แล้วสื่อมวลชนอย่างเราควรเริ่มต้นอย่างไร  อันที่จริง เพียงแค่เริ่มด้วยการกะเทาะกำแพงอันแข็งแรงที่เรียกว่า “ทัศนคติ” ซึ่งมองมนุษย์ตัวเล็กเหล่านี้เป็นเพียง “เด็ก” และทำให้เห็นคุณค่าเขาว่าเป็น ”มนุษย์คนหนึ่ง” ที่มีสิทธิ์แสดงความเห็น ก็จะได้ผลที่เกิดขึ้นอย่างอัตโนมัติคือการ “เปิดทางสร้างความเข้าใจ” ให้แทรกเข้ามาในตัวผู้ใหญ่อย่างเราได้มากโข  ทว่าการกะเทาะทัศนคติที่สะสมมานานไม่ใช่เรื่องง่าย จากงานวิจัยเกี่ยวกับเด็ก มีประเด็นสะท้อนความรู้สึกที่น่าสนใจต่างๆของเด็กๆ ซึ่งสื่อมวลชนควรตระหนัก สรุปได้ดังต่อไปนี้


บันทึกนอกห้องเรียน

Posted by: | Posted on: February 22, 2013
Read More ...

บันทึกนอกห้องเรียน

ศรรวริศา เมฆไพบูลย์

[บันทึกการเดินทางในโครงการเสวนาสัญจรหาความรู้เรื่องเด็กชายขอบกับสื่อมวลชน, เชียงใหม่และเชียงราย, ๖-๙ ตุลาคม ๒๕๕๕ จัดโดย คณะทำงานการจัดการความรู้ (Knowledge Management) สู่สถาบันแห่งการเรียนรู้เรื่องสื่อกับเด็ก คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์]

วันที่ ๑ 

ท่าอากาศยานดอนเมือง, ๐๕.๕๐ น.

ฉันหอบเป้มาถึงหน้าประตูขึ้นเครื่องและจ่อมตัวลงบนเก้าอี้ริมหน้าต่าง ก่อนจะหยิบหนังสือออกมาอ่าน สลับกับการเงยหน้าขึ้นชมแสงสีน้ำเงินเข้มค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเทา ชายหนุ่มคนหนึ่งเดินไปหยุดที่หน้าต่างกระจก หยิบกล้องถ่ายรูปออกมารอเครื่องบินที่แล่นทะยานผ่านไปบนรันเวย์ด้านนอก ม่านสีเทาจางแสงลงอีกนิด เสียงรอบตัวเริ่มดังขึ้นตามจำนวนคนที่ทยอยกันเข้ามา เครื่องบินอีกลำคำรนลั่นก่อนเชิดหัวขึ้นสู่ท้องฟ้าขมุกขมัว พระอาทิตย์หายไปข้างไหนก็ไม่รู้…เช่นเดียวกับเพื่อนร่วมทางคนอื่น ฉันก้มหน้าดูนาฬิกา นึกสงสัยอยู่ครามครันว่าแถวเช็กอินยามสายยาวไปถึงไหนหนอ ไม่ได้รู้เลยว่ามือถือที่งัวเงียคว้าก่อนออกจากบ้านนั้นไม่ได้เปิด และคนอีกสี่ห้าคนที่เฝ้ารออยู่นั้นนั่งอยู่ฝั่งตรงข้าม เยื้องไปข้างหลังไม่กี่แถว และกำลังตามหาฉันกันจาละหวั่น เราอยู่ห่างกันไม่ถึงสิบเมตร แต่กลับหากันไม่เจอ…เพราะเสาต้นหนึ่ง (?)

เรากำลังจะออกศึกษาปัญหาที่เด็กและเยาวชนทางภาคเหนือของประเทศกำลังเผชิญ ทั้งเรื่องเด็กติดเชื้อเอชไอวี (จากแม่) เด็กที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม เด็กเร่ร่อน และเด็กไร้รัฐ ในโครงการเสวนาสัญจรเรื่องเด็กชายขอบกับสื่อมวลชน โดยรับฟังปัญหาและข้อสังเกตจากการบรรยาย ซักถามพูดคุย สังเกตการณ์ และเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนทำงานในพื้นที่และเยาวชนผู้เป็นเจ้าของปัญหาโดยตรง

ถึงเวลาขึ้นเครื่อง ฟ้าแจ้งแล้วแต่พระอาทิตย์ยังไม่ยอมแย้มหน้า เสาต้นนั้นยังอยู่ที่เดิม แต่เมื่อใครสักคนขยับ ในที่สุดเราก็ได้พบ