หลักสูตร “สื่อกับเด็ก (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2554)”

Posted by: | Posted on: November 29, 2012
Read More ...

หลักสูตร “สื่อกับเด็ก (ฉบับปรุงปรุง พ.ศ. 2554)” นี้ เป็นผลจากการนำหลักสูตรเดียวกัน ซึ่งผลิตขึ้นเมื่อปี 2550 ไปทดลองใช้ จากนั้นได้สรุปบทเรียนเพื่อพัฒนาขึ้นเป็นหลักสูตรฉบับปรับปรุงล่าสุด

หลักสูตรดังกล่าวเป็นหลักสูตรสำหรับอาจารย์ผู้สอนนักศึกษาด้านวารสารศาสตร์ / นิเทศศาสตร์ หรือนักศึกษาผู้สนใจในระดับชั้นปีที่ 3 มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้เรียนได้เข้าใจในเรื่องสิทธิเด็ก และมองเห็นบทบาทของสื่อมวลชนที่จะมีส่วนร่วมในการส่งเสริมสิทธิเด็กในสังคมไทย การทำหลักสูตรนี้เป็นความร่วมมือขององค์การยูนิเซฟ และคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งได้จัดทำ “โครงการพัฒนาการเรียนการสอนด้านวารสารศาสตร์ในเรื่องสิทธิเด็ก” ขึ้นเมื่อปี 2549 เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านสิทธิเด็กให้แก่อาจารย์ และนำไปสู่การพัฒนาหลักสูตรระดับปริญญาตรีในลักษณะวิชา “สื่อกับเด็ก” ฉบับแรกเมื่อปี 2550

หลังจากได้นำหลักสูตรไปใช้ คณะทำงานได้ปรับปรุงหลักสูตรดังกล่าว โดยได้อาศัยข้อมูลความเห็นจากการสนทนากลุ่มกับผู้เรียน (Focus Group Discussion) การให้อาจารย์เข้าสังเกตการณ์การเรียนการสอนตลอด 16 คาบ และการให้เจ้าหน้าที่จากองค์การยูนิเซฟได้อ่านหลักสูตร
จากนั้นคณะทำงานได้นำข้อมูลที่ได้ทั้งหมดมาเป็นแนวทางในการปรับปรุงหลักสูตร โดยมีสาระสำคัญที่เปลี่ยนไปจากหลักสูตรเมื่อป  2550 เช่น การลำดับบทใหม่ การรวบบางหัวข้อให้เป็นหัวข้อเดียวกัน การเพิ่มหัวข้อที่ทันสมัย และการเพิ่มเวลาให้กระบวนการในการทำงานภาคปฏิบัติ ฯลฯ จากนั้นได้นำร่างฉบับดังกล่าวไปทดลองใช้อีกครั้งเมื่อปีการศึกษา 2553 อีกทั้งได้รับความอนุเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญด้านเด็ก และคณาจารย์ด้านวารสารศาสตร์ / นิเทศศาสตร์ ได้อ่านเพื่อให้ความคิดเห็น กระทั่งในที่สุดคณะทำงานได้พัฒนาหลักสูตรนี้จนกลายมาเป็นฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2554

คณะทำงานของโครงการฯ ซึ่งประกอบไปด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์กัลยกร วรกุลลัฎฐานีย์ อาจารย์ประไพพิศ มุทิตาเจริญ อาจารย์ ดร.ธาตรี ใต้ฟ้าพูล (ย้ายจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) อาจารย์นิธิดา แสงสิงแก้ว (ลาศึกษาต่อ) ผู้ช่วยศาสตราจารย์รุจน์ โกมลบุตร และอาจารย์สมัชชนันท์ เอกปัญญากุล ขอขอบพระคุณองค์การยูนิเซฟที่เป็นผู้ริเริ่มและสนับสนุนโครงการฯที่มีประโยชน์เช่นนี้

ขอขอบคุณผู้เชี่ยวชาญด้านเด็ก และคณาจารย์ด้านวารสารศาสตร์ / นิเทศศาสตร์ ที่เสียสละเวลาช่วยให้ความเห็นต่อหลักสูตรฯ ได้แก่ อาจารย์เกศราพร ทองพุ่มพฤกษา คุณเข็มพร วิรุณราพันธ์ อาจารย์ดวงแก้ว เธียรกิจสวัสดิ์ อาจารย์ ดร.ปิยวรรณ วิเศษสุวรรณภูมิ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รัตยา โตควณิชย์ อาจารย์วารี ฉัตรอุดมผล รองศาสตราจารย์ ดร.สมสุข หินวิมาน คุณสุมณฑา ปลื้มสูงเนิน อาจารย์อารดา ครุจิต และคุณเอกลักษณ์ หลุ่มชมแช

ขอขอบพระคุณคุณธนิฏฐาพร จันทรินทร์ และคุณพรไพลิน จุลพันธ์ ที่มีส่วนสนับสนุนในการทำหลักสูตร

คณะทำงานฯหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หลักสูตรนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับอาจารย์ รวมทั้งผู้สนใจทั่วไป ทั้งนี้การนำไปใช้หรือเผยแพร่สามารถกระทำได้ทันที โดยใช้ระบบการอ้างอิง และไม่จำเป็นต้องขออนุญาตจากคณะวารสารศาสตร์ฯล่วงหน้าแต่อย่างใด

คณะทำงานฯต้องขออภัยทุกท่านหากหลักสูตรมีความบกพร่องหรือผิดพลาด และยินดีรับฟังข้อคิดเห็นจากทุกท่านเพื่อนำไปปรับปรุงหลักสูตรให้ดีขึ้น

คณะทำงานโครงการพัฒนาการเรียนการสอนด้านวารสารศาสตร์ในเรื่องสิทธิเด็ก
คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พฤษภาคม 2554

download


สรุปผลการประเมินการสอนวิชาสื่อกับเด็ก

Posted by: | Posted on: October 25, 2012
Read More ...

สรุปผลการประเมินการสอนวิชาสื่อกับเด็ก
โดย รองศาสตราจารย์กัลยกร วรกุลลัฎฐานีย์ และทีมผู้สอน
ปีการศึกษา ๒๕๕๒

จากการที่คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เปิดสอนวิชา สื่อกับเด็กซึ่งเป็นหลักสูตรที่พัฒนาขึ้นเพื่อให้นักศึกษาที่จะจบการศึกษาไปเป็นสื่อมวลชนในอนาคต เข้าใจและตระหนักในสิทธิของเด็ก โดยใช้หลักสูตรจากโครงการพัฒนาการเรียนการสอนด้านวารสารศาสตร์ในเรื่องสิทธิเด็กที่คณะทำงานโครงการพัฒนาการเรียนการสอนด้านวารสารศาสตร์ในเรื่องสิทธิเด็ก คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้พัฒนาขึ้นโดยการสนับสนุนจากองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย

หลักสูตรที่พัฒนาขึ้นนี้มุ่งเน้นการสร้างความตระหนักรู้เรื่องสิทธิเด็ก และการละเมิดสิทธิเด็กที่ปรากฏในการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับเด็ก ทั้งข่าว โฆษณา และสื่อบันเทิง โดยมีเนื้อหาครอบคลุมประเด็นต่างๆ เช่น ความสัมพันธ์ เด็กกับผู้ใหญ่ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ  กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสื่อในการนำเสนอเรื่องเด็ก เด็กกับโฆษณา การประชาสัมพันธ์กับสิทธิเด็ก รวมทั้งกลุ่มเด็กที่กำลังเผชิญปัญหา ได้แก่ เด็กพิการ เด็กข้างถนนเด็กถูกกระทำ  เด็กด้อยโอกาส  เด็กที่ได้รับผลกระทบจากเอชไอวี  เด็กไร้รัฐ โดยมีคณะผู้สอน ๔ คน จัดการเรียนการสอนในลักษณะของการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ (experimental learning) และหลังจากทดลองจัดค่ายนักศึกษาเป็นระยะเวลา ๓ วัน ๒ คืนเพื่อทดลองหลักสูตรจนมั่นใจแล้ว คณะทำงานโครงการพัฒนาการเรียนการสอนด้านวารสารศาสตร์ในเรื่องสิทธิเด็กจึงได้เปิดวิชาสื่อกับเด็กเป็นวิชาเลือกของคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี ๒๕๕๑

ต่อมาในปี ๒๕๕๒ หลังจากนำหลักสูตรไปใช้ในการเรียนการสอนเป็นปีแรกแล้ว คณะทำงานโครงการพัฒนาการเรียนการสอนด้านวารสารศาสตร์ในเรื่องสิทธิเด็กมีความประสงค์จะประเมินหลักสูตร โดยประเมินทั้งผู้เรียนและผู้สอนเพื่อให้ครอบคลุมกระบวนการเรียนการสอน ในด้านผู้รับสาร หรือผู้เรียน จะประเมินว่าผู้เรียนได้รับองค์ความรู้ด้านการสื่อสารกับเด็กมากน้อยเพียงใดจากการเรียนการสอน ๑๖ สัปดาห์ และด้านผู้สื่อสาร หรือผู้สอน จะประเมินว่าวิธีจัดการเรียนการสอนที่กำหนดไว้ในหลักสูตรสามารถสื่อสารเนื้อหาให้ผู้เรียนได้รับความรู้ตามที่คาดหวังไว้หรือไม่ เพื่อนำผลการประเมินมาปรับปรุงหลักสูตรให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นต่อไป …