อ่านว่า “เด็ก” แปลว่า “อนาคต”

Posted by: | Posted on: October 25, 2012
Read More ...

อ่านว่า “เด็ก” แปลว่า “อนาคต”
โดย อาจารย์ศรรวริศา เมฆไพบูลย์

“รักเด็ก” อาจเป็นนิยามและคำตอบยอดนิยมสำหรับผู้เข้ารอบการประกวดนางงามหรือเป็นความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ยามที่เห็นเด็กหญิงแก้มใส เด็กชายแก้มแดง สวมเสื้อผ้าสะอาดสวยงาม ส่งยิ้มไร้เดียงสาอยู่ในอ้อมกอดพ่อแม่หรือวิ่งเล่นสนุกสนานอยู่ในสนาม แต่เราจะยังรู้สึกเช่นนี้อยู่ไหมกับเด็กหน้าตามอมแมมที่นั่งน้ำมูกยืดขอทานอยู่บนสะพานลอย เราจะมองเด็กสาววัยเรียนที่อุ้มท้องเดินอยู่ตามลำพังโดยไม่เกิดอคติเบาบางแวบขึ้นมาในใจได้ไหม เราจะให้อภัยวัยรุ่นดมกาวที่วิ่งราวกระเป๋าหญิงคนหนึ่งในข่าวเมื่อวาน หรือเด็กหนุ่มหน้าเข้มที่เป็นผู้ต้องหาในคดีฆ่าข่มขืนได้จริงๆน่ะหรือ

หากมองให้ลึกไปกว่าความหมายอันงดงามฉาบฉวยของวลีนี้ ความรัก—ซึ่งเป็นความรักที่แท้จริงด้วย—ก็เป็นแค่คุณสมบัติพื้นฐานเล็กๆข้อหนึ่งในหลายข้อที่พึงมีในวิชาชีพเกี่ยวกับเด็ก ไม่ว่าจะเป็นครู ผู้ฝึกสอนกีฬา ตำรวจ ผู้คุม หรือกระทั่งสื่อมวลชนที่ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับเด็กโดยตรง แต่ประกอบวิชาชีพที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ที่ดีของพวกเขาด้วยการนำเสนอเรื่องราวและข่าวสารเกี่ยวกับเด็กต่อสังคม เพราะไม่เสมอไปที่ “สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าเด็ก” จะงดงามน่ารักและพยักหน้าว่าง่ายเสมอไป นอกจากเด็กน่ารักน่าชังที่เรารู้จักผาดเผิน โลกภายนอกยังมีมนุษย์ตัวเล็กๆที่ใช้ชีวิตในความมืด มีโฉมหน้า สมญา และพฤติกรรมร้ายกาจสารพัด ชนิดที่นางงามรักเด็กอาจกลืนน้ำลายตัวเองแทบไม่ทันและคนในสังคมไม่มีใครปรารถนาจะพาตนเข้าไปเกลือกกลั้วชิดใกล้ แต่ไม่ว่าความวุ่นวายร้ายกาจนั้นจะเกิดจากความผิดพลาดพลัดพลั้งของเจ้าตัวหรือการกระทำของผู้ใหญ่ในบ้าน เด็กก็คือเด็ก และเป็นหน้าที่ของคนโตกว่าที่จะชี้แนะ ประคับประคอง และโน้มนำพวกเขาออกจากเงาหม่นก่อนจะถลำเข้าสู่ซอกมุมอันมืดดำจนยากเกินจะกู่กลับมาได้
และในการทำเช่นนั้น ความรักเท่านั้นไม่พอ


สรุปบทเรียนการพัฒนาหลักสูตร “สื่อกับเด็ก”

Posted by: | Posted on: October 25, 2012
Read More ...

สรุปบทเรียนการพัฒนาหลักสูตร “สื่อกับเด็ก” 

รุจน์ โกมลบุตร[1]

 ๑. บทนำ

ประเด็นด้านสิทธิเด็กเป็นเรื่องที่สังคมไทยยังมีความรู้ความเข้าใจที่จำกัด ทำให้เกิดปรากฏการณ์การละเมิดสิทธิเด็กอยู่เสมอ เช่น การทำร้ายร่างกาย-จิตใจเด็ก การละเมิดทางเพศเด็ก เด็กเข้าไม่ถึงบริการการศึกษาและสาธารณสุขที่มีคุณภาพ รวมถึงเด็กกลุ่มต่างๆ ที่กำลังเผชิญปัญหา เช่น เด็กเร่ร่อน เด็กไร้รัฐ เด็กที่ได้รับผลกระทบจากเอชไอวี ฯลฯ ส่วนสื่อมวลชนเองที่นอกจากมีบทบาทค่อนข้างน้อยในการส่งเสริมสิทธิเด็กแล้ว ในบางกรณียังมีการละเมิดสิทธิเด็กด้วย เช่น การเปิดเผยเอกลักษณ์ของเด็กที่กระทำผิดทางอาญา หรือการนำเสนอเนื้อหาที่มีความรุนแรง ลามกอนาจาร โดยสังคมยังขาดมาตรการการคุ้มครองผู้ชมที่เป็นเด็กที่เข้มแข็งเพียงพอ ฯลฯ

เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ดังกล่าว นอกจากต้องอาศัยนโยบายแห่งรัฐ และมาตรการจากหน่วยงานต่างๆ แล้ว การจัดการเรียนการสอนเรื่องสิทธิเด็กให้แก่นักศึกษาด้านวารสารศาสตร์/นิเทศศาสตร์ เพื่อให้เป็นผู้ที่มีความตระหนักในเรื่องสิทธิเด็ก จะช่วยให้ “ว่าที่” สื่อมวลชน สามารถเป็นกลไกที่มีศักยภาพในการสื่อสารและผลักดันเรื่องสิทธิเด็กให้แก่สังคมไทยได้เข้าใจในวงกว้าง

ดังนั้น ในปี พ.ศ.๒๕๔๙ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ได้ประสานความร่วมมือมายัง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธนัญญา เชรษฐา คณบดีคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ในขณะนั้น) เพื่อที่จะร่วมกันพัฒนาการเรียนการสอนในเรื่องสิทธิเด็กแก่นักศึกษาของคณะวารสารศาสตร์ฯ  กระทั่งได้ริเริ่มจัดทำ “โครงการพัฒนาการเรียนการสอนด้านวารสารศาสตร์ในเรื่องสิทธิเด็ก” ขึ้น โดยมีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาองค์ความรู้เรื่องสิทธิเด็กให้แก่อาจารย์ นักศึกษา และเผยแพร่องค์ความรู้สู่สังคมในวงกว้าง รวมทั้งพัฒนาหลักสูตรวิชา “สื่อกับเด็ก” ซึ่งถือได้ว่าเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการพัฒนาวิชาดังกล่าวขึ้นมาในระดับปริญญาตรี ในสถาบันอุดมศึกษาด้านวารสารศาสตร์/นิเทศศาสตร์

การพัฒนาโครงการฯ ดังกล่าวได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งปี พ.ศ.๒๕๕๕ “โครงการพัฒนาการเรียนการสอนด้านวารสารศาสตร์ในเรื่องสิทธิเด็ก” ได้รับรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฏราชกุมาร เนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติ ในฐานะผู้ทำคุณประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชน ประจำปี ๒๕๕๕ สาขาการศึกษาและวิชาการ

บทความเรื่องนี้ จะเป็นการเรียบเรียงประสบการณ์การดำเนินกิจกรรม และการสรุปบทเรียนที่ได้จากการจัดทำโครงการฯ ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๔๙-๒๕๕๕ รวมระยะเวลา ๖ ปีเต็ม